ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เน้นจิตวิญญาณสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง ของชุมชนลานตากฟ้า จ.นครปฐม

ข่าวทั่วไป Monday August 28, 2017 11:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐมร่วมกับคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อให้กลุ่มองค์กรเครือข่ายด้านพัฒนาสังคมสามารถนำทรัพยากรหรือทุนทางวัฒนธรรมชุมชนที่มีอยู่ในเขตกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่างมาผลิตสินค้ารวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ มาต่อยอดและก่อให้เกิดเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวและชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ผศ.ดร.ภูวนาท รัตนรังสิกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาโท สาขาศิลปะการออกแบบและที่ปรึกษาโครงการ ประชาสัมพันธ์ผลผลิตทางภูมิปัญญาทางสื่อดิจิทัลในฐานะวิทยากรที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐมขอความร่วมมือให้มาดำเนินการ กล่าวว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐมขอความร่วมมือมาให้การสนับสนุนชุมชนคุณธรรมโดยไม่ได้เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อผลรายได้ทางเศรษฐกิจแต่อย่างใดแต่จะเน้นเป็นอาชีพเสริมที่สามารถผลิตและบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืนตลอดไป นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการโดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคตลอดจนสอนวิธีการทำการตลาดและการสร้างตราให้กับผู้ประกอบการด้วย เบื้องต้นเราแบ่งออกเป็น3ชุมชนได้แก่ ชุมชนโพรงมะเดื่อ ชุมชนคลองลัดอีแท่นและชุมชนลานตากฟ้า ครั้งนี้เรามาลงพื้นที่ชุมชนลานตากฟ้าก่อน ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของที่นี่คือ กระทง12 นักษัตรซึ่งประชาชนในพื้นที่นี้ได้สืบทอดประเพณีอันดีงามกันมายาวนานด้วยอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร มีความร่วมมือร่วมใจกันสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์คล้ายกับรัฐวิสาหกิจชุมชนแต่ไม่ได้เน้นไปที่ตัวผลิตภัณฑ์นั้นว่าจะจำหน่ายออกไปได้มากน้อยเพียงใด เรามองว่าองค์ประกอบธุรกิจที่สร้างสรรค์คือสามารถสร้างรายได้แบบยั่งยืนกล่าวคือรายได้ที่ได้มาต้องกระจายจากเราไปสู่ผู้อื่นด้วย ณ.ชุมชนลานตากฟ้านอกจากกระทง12 นักษัตรที่ชาวบ้านผลิตออกมามีลักษณะที่อิงกับวัฒนธรรมและสร้างเรื่องราวนำสู่อัตลักษณ์ที่ชัดเจนแล้วยังมีการทำขนมลูกชุบของผู้สูงอายุที่ใช้เวลาว่างออกมาจับกลุ่มทำกันอย่างสนุกสนาน ขนมลูกชุบที่นี่ไม่มีหน้าร้านวางขายเขารับเป็นออร์เดอร์เข้ามาแล้วจึงลงมือผลิตส่งถึงมือลูกค้าส่วนใหญ่จะสั่งไปทำบุญกันเป็นจำนวนมาก ผลิตภัณฑ์ที่นี่จึงไม่ดาษดื่นเหมือนที่อื่นๆแต่กลับกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างความสามัคคีให้กับชุมชน มีการรวมกลุ่ม ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และมีการถ่ายทอดสู่เพื่อนบ้านรวมถึงเยาวชนด้วย ดังนั้นผลิตภัณฑ์ของเราจึงไม่ได้เน้นการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจล้วนๆ เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้เรายังมาดูอีกว่าในชุมชนนั้นๆ มีผลิตภัณฑ์อะไรที่เข้าข่ายแบบนี้บ้างซึ่งก็มีเยอะอยู่นะครับที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมสามารถส่งออก เช่นน้ำจิ้มสุกี้ ข้าวที่ปลูกแบบปลอดสารพิษรวมถึงแพ็คเกจอะไรต่างๆ ทั้งนี้ผมพยายามที่จะดึงเอาอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนออกมาแล้วทำการชี้แนะ แนะนำ รวมทั้งจัดให้มีการอบรมสัมมนาเพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้จริงและผลิตสินค้าจากทุนวัฒนธรรมส่งเสริมการขายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเราเคยทำไปแล้ว จากนั้นเราก็มาลงพื้นที่เพื่อปรับปรุงแนะแนวทางรูปแบบ เช่นคราวที่แล้วไปสัมมนากันมีการพูดถึงประเด็นของการทำแพ็คเกจ เรื่องของการอ้างอิง วันนี้เราเห็นเขาทำออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ตัดมาจากไม้ไผ่ในพื้นบ้านของเขามาใส่วุ้น มันก็ทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่เราให้คำแนะนำเขาไปประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งจากความคิดที่สร้างสรรค์มาสรรค์สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนด้วยฝีมือของตัวเอง โครงการนี้เราเริ่มทำมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาโดยครั้งแรกเป็นการลงสำรวจพื้นที่ว่ามีกี่หมู่บ้าน มีผลิตภัณฑ์อะไรที่น่าสนใจที่อยากจะเข้าร่วมโครงการบ้าง ครั้งที่สองเป็นการเชิญประชาชนในพื้นที่ ที่เราคุยกันไว้แล้วรวมถึงผู้นำท้องถิ่นนายก อบต. จากนั้นประธานชุมชนได้ทำการคัดเลือกตัวแทนไปประชุมกันเป็นการระดมสมองใช้เวลา 2 วัน ทั้งนี้เพื่อช่วยกันคิดทุนทางวัฒนธรรมสร้างเรื่องราวสู่อัตลักษณ์ที่ชัดเจนของชุมชนในแต่ละพื้นที่ออกมาให้ตรงตามรูปแบบ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าเราเลือกมาทั้งหมด3 ชุมชน มีชุมชนโพรงมะเดื่อ ชุมชนคลองลัดอีแท่น และชุมชนลานตากฟ้า ซึ่งแต่ละชุมชนเราดึงเอาอัตลักษณ์มาสร้างเป็นเรื่องของกราฟฟิค และสร้างเป็นเรื่องของแพ็คเกจรวมไปถึงตัวรูปแบบของผลิตภัณฑ์ด้วย ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์เขาจะมีตลาดของเขาเอง ใช้วิธีง่ายๆด้วยการบอกปากต่อปาก ทุกคนจะเห็นว่าเขามีอาชีพอยู่แล้วที่สำคัญคือทำอย่างไรถึงจะเกิดความยั่งยืน ที่ผ่านมาเราทำการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องประมาณ 50-60% และกำลังเก็บรายละเอียดผลิตภัณฑ์เพื่อพัฒนาให้ได้มากกว่านี้เช่นรูปร่างหน้าตาสินค้า แพ็คเกจ ป้ายฉลากรวมถึงเรื่องวิธีการขนส่งฯ ส่วนเป้าหมายการขยายออกไปชุมชนพื้นที่อื่นๆเราคงใช้เวลาทำต้นปีหน้าหลังจากเกิดผลสัมฤทธิ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์แบบยั่งยืนของชุมชนที่นี่ได้แล้ว ต่อไปเราก็จะไปดูชุมชนวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งทั้งประเทศยังมีอีกมากมายที่ต้องเข้าไปให้คำแนะนำ สรุปข้อคิด โครงการ ผศ.ดร.ภูวนาท รัตนรังสิกุล กล่าวทิ้งท้ายว่า"เราจะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่มาจากภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนทั่วโลกปัจจุบันมีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆแล้วผลิตภัณฑ์เดิมที่เราเคยฮิตหรือเป็นที่นิยมกัน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาวันนี้ตลาดมันค่อนข้างนิ่งทั้งนี้เพราะว่าในที่สุดเราเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมเป็นโมเดิร์นเป็นอุตสาหกรรมมานานพอสมควรทุกคนเริ่มรู้สึกเบื่อกับสิ่งนี้ และเริ่มเห็นผลเสียที่เกิดจากการทุ่มเทในอุตสาหกรรมประเภทนี้มากเกินไปจนโลกเสียสมดุลย์ ถ้าตอนนี้ทุกคนกำลังหาทุนวัฒนธรรมหาจังหวะหรือเรื่องอื่นๆสิ่งสำคัญควรหาสิ่งที่มันสะท้อนความเป็น "จิตวิญญาณ" คงต้องใช้คำนี้แหละครับเพราะผลิตภัณฑ์ที่มีจิตวิญญาณจากท้องถิ่นมีความเป็นวัฒนธรรมนั้นๆ เมื่อกลับเข้ามาสู่การบริโภคแล้วจะอยู่อย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ อย่าเอาแต่การพัฒนาเศรษฐกิจหรือทางอุตสาหกรรมเท่านั้นผลิตภัณฑ์ในเชิงวัฒนธรรมจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยเราสามารถที่จะต่อยอดและก่อให้เกิดเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวแล้วยังจะเป็นการส่งผลให้ชุมชนนั้นๆสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย ด้านนายสันต์ สุภิเวก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลานตากฟ้า เผยว่า ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายยายประเพณีลอยกระทงเราได้สืบทอดกันมายาวนานตามแบบฉบับดั้งเดิมเหลืออยู่ประมาณ 50-60% ส่วนใหญ่ทำการเกษตรเช่นทำไร่ทำนา สวนผักผลไม้ ชมพู่ ฝรั่ง ไม้ดอก เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เป็นต้น ส่วนชาวบ้านที่ขายที่ดินไปเพื่อการพาณิชย์สร้างตึก อาคารต่างๆอีกประมาณ 30-40% จุดเด่นต้นแบบทางวัฒนธรรมของชุมชนลานตากฟ้าเราพยายามที่จะอนุรักษ์ขนบประเพณีดั้งเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง อย่างประเพณีสงกรานต์เราจัดให้มีการทำบุญทั้งหมด 5 วันมีกิจกรรมเช่น ทำบุญเลี้ยงพระ สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ โดยในแต่ละปีที่นี่มีผู้ให้ความสนใจเดินทางมาร่วมทำบุญและได้รับความสนุกสนานกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกระทงใบตองที่ชุมชนลานตากฟ้านี้มีลักษณะที่โดดเด่นไม่เหมือนใครเป็นกระทง12 นักษัตรชาวบ้านจำนวน 200-300 คนจะร่วมแรงร่วมใจกันนำวัสดุใบตอง ต้นกล้วย ดอกไม้ ใบไม้ฯที่มีอยู่ของแต่ละบ้านมาร่วมกันทำที่วัด เป็นวัสดุที่ได้มาจากธรรมชาติ ปีหนึ่งชาวบ้านทำกันได้ถึง3-4 พันใบ รายได้แสนกว่านำถวายวัดหมด นอกจากนี้เรากำลังจะทำให้มีตลาดน้ำเกิดขึ้นที่นี่เร็วๆนี้ด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงบริหารจัดการก่อสร้างโดยกิจกรรมทั้งหมดเราได้รับความร่วมมือจากทางวัด ชุมชนและชาวบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุร่วมกันดำเนินการสำหรับรายได้เราก็แบ่งออกไปให้แต่ละฝ่ายด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามหากชุมชนใดที่มีความประสงค์จะเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันเชิญได้ที่ อบต.ลานตากฟ้า ต.ลานตากฟ้า จ.นครปฐม โทร.034-900-440 หรือ facebook องค์การบริหารส่วนตำบลลานตากฟ้าและ www.lantakfa.go.th ปัจจุบันเราได้วิทยากรจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐมและมี ผศ.ดร.ภูวนาท รัตนรังสิกุล เข้ามาช่วยให้คำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการดำเนินงานต่างๆไม่ว่าจะเป็น การทำลูกชุบ ผลิตภัณฑ์หรือกระทงให้มีการพัฒนาขึ้นในเรื่องของวัสดุอุปกรณ์ รูปแบบฯลฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนแต่ยังคงความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ รู้สึกดีใจนะครับที่เราได้โอกาสดีๆอย่างนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ