แชร์ให้โลกรู้ว่าสวย! เปิดทริคเด็ดถ่ายรูปยังไงให้ปัง เกร็ดดีๆ จากนิทรรศการ “ไทยทำ...ทำทำไม”

ข่าวบันเทิง Thursday August 31, 2017 17:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ หากพูดถึงกิจกรรมยามว่างของคนไทยเรา ก่อนที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตมากเท่าในปัจจุบัน คำตอบที่ได้คงจะเป็น "งานประดิษฐ์"ทั้งการประดิษฐ์สิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตต่างๆ เครื่องทุ่นแรงในการประกอบสัมมาอาชีพ เครื่องรางของขลังเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ อาหารคาวหวาน ไปจนถึงงานประดิดประดอย อย่างของประดับตกแต่งภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ในทุกวันนี้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตเรามากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อติดต่อสื่อสาร และอัพเดตข่าวสารประจำวันแล้ว ยังถูกใช้บอกเล่าเรื่องราว แสดงตัวตนและไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันด้วย หนึ่งกิจกรรมฮอตฮิตติดเทรนด์ของคนไทย ที่ไม่ว่าหันไปทางไหนก็สามารถพบเห็นกันได้ คงหนีไม่พ้น "การถ่ายภาพ" โดยเฉพาะการโพสต์การแชร์ภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม ของใช้ของกิน รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีกล้องแบบตากล้องมือโปร...ล่าสุด มิวเซียมสยามจึงจัดเวิร์กชอป "เทคนิคถ่ายภาพแนวสตรีท" กิจกรรมประกอบนิทรรศการ "ไทยทำ...ทำทำไม" เอาใจสายรักโซเชียล โดยได้ "ฮ่องเต้ กนต์ธร เตโชฬาร" พิธีกร-ศิลปินผู้มีใจรักในงานศิลปะ หนึ่งในภัณฑารักษ์รับเชิญผู้ร่วมออกแบบนิทรรศการ และ "ผ้าป่าน สิริมา ไชยปรีชาวิทย์" ช่างภาพสตรีทหญิงผู้มีผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ ควบตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร The Jam Factory มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และเทคนิคการถ่ายภาพด้วยสิ่งที่เสมือนเป็นอวัยวะที่ 33 ติดตัวทุกคนกันไปแล้วอย่าง "โทรศัพท์มือถือ" แบบที่ไม่ต้องพึ่งกล้องโปรราคาแพง หรือแบกขาตั้งกล้องกันให้รกพะรุงพะรัง สำหรับใครที่พลาดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ไป ไม่ต้องเสียใจ วันนี้มิวเซียมสยาม รวบรวม 4 เรื่องควรรู้ ที่จะทำให้ภาพถ่ายด้วย "มือถือ" ออกมาสวยเริ่ดไม่ได้โดยไม่ต้องผ่านแอปผ่านฟิลเตอร์ 1) Exposure หรือ การเปิดรับแสง ภาพที่สวยลงตัวนั้นมักจะเป็นภาพที่สามารถเก็บรายละเอียดของภาพได้ครบถ้วน ซึ่งแสงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกับเรื่องนี้โดยตรง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว สภาพแสงในทุกช่วงเวลาแตกต่างกัน ดังนั้นการปรับแสงก่อนกดชัตเตอร์จึงสำคัญมาก หลายคนคงจะพอทราบกันว่า ขณะถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน สามารถเลือกโฟกัสวัตถุและสามารถปรับแสงได้ โดยกดที่ตำแหน่งส่วนที่ต้องการโฟกัส แล้วลากขึ้นลงเพื่อปรับแสง แต่เคยไหม เลือกมุม จัดแสงจัดโฟกัสเสียดิบดี หวังว่าจะฝากเพื่อนฝากแฟนถ่ายภาพให้ กลับออกมาไม่ได้แบบที่ตั้งเอาไว้ นั่นก็เพราะ ในขณะที่คุณส่งมือถือให้คนอื่นนั้น เกิดการขยับเขยื้อนจนทำให้แสง โฟกัสนั้นเพี้ยนไปจากที่ต้องการ แต่ที่จริงแล้ว สมาร์ทโฟน มีคำสั่ง AE/AF Lock ที่สามารถล็อคแสง ล็อคโฟกัสของคุณไว้ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงเมื่อขยับมือถือ โดยการกดโฟกัสหน้าจอค้างไว้ 1-2 วินาที จนมีตัวอักษรแจ้ง AE/AF Lock เท่านี้มือถือของคุณก็จะจดจำค่าแสงที่ตั้งไว้ และไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะเปลี่ยนมือคนถ่ายซักกี่ครั้งก็ตาม อีกหนึ่งเรื่องที่ควรทราบก็คือ ในกรณีที่มีความต่างของแสงภายในภาพมาก วิธีการเลือกจุดสำหรับวัดแสงคือ การเลือกเก็บรายละเอียดในส่วนของโซนสว่างหรือมืด ถ้าคุณเลือกเก็บรายละเอียดในโซนสว่างก็ให้เลือกกดในบริเวณที่สว่างที่สุดภายในภาพ และปรับชดเชยแสงลงเล็กน้อย คุณก็จะสามารถควบคุมพื้นที่บริเวณที่สว่างภายในภาพได้ ทั้งยังคงได้รายละเอียดเพิ่มเติมมาในส่วนของโทนมืด ยิ่งไปกว่านั้น มือถือสมาร์ทโฟน ยังมีคำสั่งอัจฉริยะอย่าง HDR (High Dynamic Range) ที่เหมือนเป็นตัวช่วยสำหรับการถ่ายภาพในจุดที่มีความสว่างต่างกันมากในภาพเดียว โดยคำสั่งดังกล่าว จะทำให้การถ่ายภาพ 1 ภาพ ออกมา 3 ภาพ ในช่วงที่แสงต่างกันคือ ช่วงแสงที่มืดที่สุด ช่วงแสงที่ปรากฏบนหน้าจอขณะถ่ายภาพ และช่วงแสงที่สว่างที่สุด แล้วประมวลผลนำมารวมกันในภาพเดียว ดังนั้นภาพที่ออกมา จะมีความคมชัดของรายละเอียดสูง ทั้งในบริเวณที่มืดและบริเวณที่สว่าง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในกรณีที่ภายในภาพมีคู่สีที่ตัดกันมาก แล้วเราอยากให้ภาพสามารถเก็บรายละเอียดได้ทั้งสองส่วน เช่น ภาพถ่าย Portraitกับผนังสีขาวล้วน เป็นต้น AE/AF Lock HDR 2) Composition หรือ การจัดองค์ประกอบภาพ เคยไหม เวลาเห็นภาพบางภาพแล้วเรารู้สึกชอบ รู้สึกว่าภาพสวยแบบไม่สามารถอธิบายได้ แท้จริงแล้วเกิดจากการประมวลผลของสมอง ที่มีความซับซ้อนมากกว่าการมองด้วยตาเปล่า ประกอบกับภาพดังกล่าวมีการจัดคอมโพซิชัน หรือองค์ประกอบภาพที่ลงตัว และตรงกับการรับรู้ทางสุนทรียะของมนุษย์นั่นเอง ดังนั้นหากเราสามารถถ่ายภาพให้ตรงกับการรับรู้สุนทรียะได้ ภาพที่ออกมา ใครเห็นก็จะต้องให้คะแนน 10 10 10 กันไปตามๆ กัน ซึ่งหนึ่งในรูปแบบคอมโพซิชันที่ทุกคนควรรู้คือ กฎสามส่วน (Rule of Thirds) โดยแบ่งพื้นที่ภายในภาพออกเป็นสามส่วนเท่าๆ กัน ทั้งในแนวนอนและแนวดิ่ง เกิดเป็นตารางตัดกัน 9ช่อง เทคนิคง่ายๆ จากตารางดังกล่าว คือการนำวัตถุเด่นของภาพ วางไว้ในบริเวณจุดตัดของตาราง ก็จะสามารถดึงจุดเด่นของวัตถุออกมาได้มากกว่าการวางไว้บริเวณกึ่งกลางภาพ ซึ่งระบบปฏิบัติการในโทรศัพท์มือถือปัจจุบัน มีฟังก์ชันรองรับคอมโพซิชันดังกล่าว คือ คำสั่งตาราง (Grid) โดยสามารถเปิด/ปิดฟังก์ชันดังกล่าวได้ในการตั้งค่ากล้องโทรศัพท์ เพื่อเป็นตัวช่วยในการจัดคอมโพซิชันสำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายภาพ กฎสามส่วน เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งทางทฤษฎีมีอีกหลายคอมโพซิชัน เช่น กฎความสมมาตร เส้นนำสายตา เส้นทแยงและสามเหลี่ยม ไปจนถึงคอมโพซิชันระดับโปรอย่าง รูปก้นหอย (กฎสัดส่วนทองคำ) ภาพโดย ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ภาพโดย Henri Cartier Bresson 3) Rhythm หรือ จังหวะ อีกหนึ่งเรื่องควรคำนึงไม่แพ้กันคือ จังหวะการถ่ายภาพ แม้ว่าจะปรับแสง หรือจัดองค์ประกอบแล้ว แต่ภาพบางภาพเช่น การถ่ายภาพสะท้อนผิวน้ำ ก็ไม่สามารถอาศัยแค่ปัจจัยดังกล่าว แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างทิศทางของแสง เป็นต้น เทคนิคที่ง่าย แต่อาจจะปฏิบัติได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ไลฟ์สไตล์ผู้คนมีแต่ความเร่งรีบ และแข่งขันกับเวลา นั่นคือ ความอดทน ภาพถ่ายโดยตากล้องชื่อดังมากมาย ที่เราแค่เห็นก็ต้องร้องว้าว นอกเหนือจากความสามารถในการถ่ายภาพเฉพาะตัวแล้ว เบื้องหลังภาพถ่ายที่เราอาจไม่ทันนึกถึง นั่นคือ พวกเขาเหล่านี้ใช้เวลานานนับเดือน กว่าจะได้ภาพถ่ายที่ต้องการเพียงภาพเดียวเท่านั้น สำหรับใครที่เป็นสายถ่ายก่อนเลือกทีหลัง รัวชัตเตอร์ไม่ยั้ง คงต้องหันมาให้เวลากับภาพถ่ายขึ้นอีกสักนิด เพราะแต่ละภาพไม่ใช่แค่เพียงภาพถ่าย แต่คือตัวแทนความทรงจำมากมาย ที่คุณผู้เป็นเจ้าของภาพจะไม่มีวันลืมเทคนิคที่ง่าย แต่อาจจะปฏิบัติได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ไลฟ์สไตล์ผู้คนมีแต่ความเร่งรีบ และแข่งขันกับเวลา นั่นคือ ความอดทน 4) Creativity หรือ ความคิดสร้างสรรค์ นอกเหนือจากเรื่องแสง การจัดองค์ประกอบของภาพ หรือจังหวะในการถ่ายภาพแล้ว การใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในภาพ สามารถช่วยสร้างฟีลลิ่งให้กับภาพถ่ายของเรามากยิ่งขึ้น เช่น การเล่นกับแสงและเงา หรือการสังเกตรายละเอียดสิ่งเล็กๆ รอบตัว ที่บางครั้งเป็นเราอาจมองข้ามไป การวาดภาพในหัวสำหรับภาพถ่ายที่เราอยากได้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม หากเราสามารถตอบตัวเองได้ว่า เราอยากได้ภาพถ่ายออกมาในรูปแบบไหน เพื่อสื่อสารอะไร จะทำให้ภาพถ่ายสามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ตรงกับความต้องการของเราได้เช่นเดียวกัน ดังที่ อนาอิส นิน (Anaïs Nin) นักประพันธ์ชื่อดังลูกครึ่งอเมริกัน-คิวบา เคยกล่าวไว้ว่า เราไม่ได้มองเห็นสิ่งต่างๆ ในแบบที่มันเป็น แต่เรามองเห็นสิ่งเหล่านั้น ในแบบที่เราคิดว่ามันควรจะเป็น เราไม่ได้มองเห็นสิ่งต่างๆ ในแบบที่มันเป็น ภาพโดย ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ แต่เรามองเห็นสิ่งเหล่านั้น ในแบบที่เราคิดว่ามันควรจะเป็น เทคนิคเหล่านี้ เป็นเพียงแค่เทคนิคเบื้องต้น ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการถ่ายรูปในชีวิตประจำวัน ซึ่งการฝึกจากเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ จะทำให้เราสามารถเข้าใจความต้องการ พัฒนาสไตล์การถ่ายภาพเฉพาะตัว และสามารถทำให้ภาพ สื่อสารกับผู้อื่น ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และ สำหรับงานศิลปะทุกประเภท ไม่มีข้อจำกัด ไม่มีอะไรที่สวยหรือไม่สวย หากเราเป็นคนช่างสังเกตและใส่ใจในรายละเอียดขึ้น ก็จะเห็นโลกในมุมมองที่ "สวย" มากขึ้นกว่าเดิม คุณผ้าป่าน กล่าวทิ้งท้าย นี่คือทริคการถ่ายภาพที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ลับฝีมือการถ่ายภาพด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือของทุกคนกันได้ สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ สามารถเข้าไปดูกิจกรรมทั้งหมดของมิวเซียมสยามได้ที่ www.museumsiam.org แล้วอย่าลืมกดติดตามเฟสบุ๊คแฟนเพจของมิวเซียมสยามกันได้ที่facebook.com/museumsiamfan

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ