สาธิตฯ ธรรมศาสตร์ ปั้นหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสร้าง “นวัตกรสังคม”

ข่าวทั่วไป Wednesday September 6, 2017 16:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบื้องหลังความไม่มียูนิฟอร์มของ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงเรียนใหม่ที่เพิ่งเปิดเรียนเทอมแรกไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ล่าสุดคณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผย มากกว่าการไม่มียูนิฟอร์มคือการออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นสร้างเด็กให้เป็น "นวัตกรสังคม" มากกว่าการส่งเข้าสู่กระบวนการแข่งขันวัดเกรดแบบเก่า จากกรณีเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับชุดเครื่องแบบนักเรียนของโรงเรียนสาธิตแห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ล่าสุด รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะต้นสังกัดโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันว่า โรงเรียน "มี" เครื่องแบบเฉพาะของโรงเรียน ซึ่งจะมีความเฉพาะตัว โดยชุดเครื่องแบบของโรงเรียนจะเป็นเสื้อยืดคอโปโล มีตราธรรมจักรอยู่ที่กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย โดยขอความร่วมมือกับเด็กให้ใส่ทุกวันจันทร์ พฤหัสบดี และวันที่มีกิจกรรมสำคัญของทางโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้ได้ผ่านการหารือร่วมกับผู้ปกครองและนักเรียนแล้ว สำหรับเบื้องหลังการออกแบบชุดเครื่องแบบนั้นเป็นไปตามแนวคิดและการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ที่เน้นกิจกรรมซึ่งผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ของตัวเอง (Active Learning) โดยเด็กจะมีการเคลื่อนไหวลุกนั่งอยู่ตลอดเวลา และต้องมีส่วนร่วมในห้องเรียนอย่างมาก การที่เด็กใส่กางเกงหรือเสื้อผ้าที่สะดวกสบายผ่อนคลาย จะทำให้เกิดความคล่องตัวในกระบวนการเรียนรู้ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนอยากให้สังคมทำความเข้าใจเรื่องเหตุแห่งการก่อตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยและผู้ร่วมก่อตั้งต้องการให้เป็นโรงเรียนที่ร่วมสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา ด้วยการออกแบบการเรียนรู้ที่เรียกกว่า "ระบบนิเวศการเรียนรู้" ซึ่งมีครู ผู้ปกครอง และนักเรียน มาทำงานร่วมกัน บนโจทย์ที่ว่า เราจะสร้างเยาวชนในอนาคตที่ดีได้อย่างไร โดยให้ "ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้" เพราะที่ผ่านมาเด็กไม่อยากไปโรงเรียน เบื่อโรงเรียน ไม่ชอบครูที่ยัดเยียดความรู้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้เรียนไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ "เรามุ่งจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพเป็นรายบุคคล เราจะไม่สร้างลูกหลานที่เติบโตเป็นคนแบบเดียวกันหมด เพราะคิดว่าเด็กแต่ละคนควรมีแบบฉบับการเติบโตเป็นของตัวเอง ซึ่งการจะเติบโตเช่นนั้นได้ เด็กต้องค้นให้พบก่อนว่า เขาอยากทำอะไร สนใจอะไร มีทักษะและมีความรักอะไรเป็นพิเศษ โรงเรียนจึงจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เขาเหล่านั้นเติบโตไปในทิศทางตามที่เขาต้องการได้ หมายความว่าเด็กต้องเห็นตัวเป้าหมายชีวิตของตัวเอง โรงเรียนหรือครูมีหน้าที่เติมเครื่องมือและทักษะที่จำเป็น เพื่อให้เขาเติบโตไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้ โดยเราตั้งเป้าไว้ว่า เมื่อเด็กเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 เขาควรจะต้องรู้ตัวเองว่า เขาอยากเป็นอะไร เพื่อที่ว่าเมื่อเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนจะได้ร่วมมือกับตัวเด็กนักเรียนเองในการพัฒนาให้ตัวเขาเชี่ยวชาญในเรื่องที่เขาอยากเรียนรู้ ที่ผ่านมาเด็กเรียนหนักมาก เยอะมาก แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตจริงได้ เช่น การสอนให้เด็กท่องสูตรสารพัด หนึ่งปีผ่านไปสุดท้ายเด็กก็ลืมอยู่ดี ฉะนั้น สิ่งที่เราพยายามทำคือ การออกแบบหลักสูตรที่บูรณาการและเชื่อมโยงกับความเป็นจริงของชีวิต ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ คอมพิวเตอร์ สังคม จะเชื่อมร้อยเป็นโครงงานเดียวกันอย่างแนบแน่น บนปรากฏการณ์ที่ครู ผู้ปกครอง และเด็ก เห็นชอบร่วมกัน" นอกจากนี้ รศ.ดร.อนุชาติ ยังกล่าวด้วยว่า พัฒนาการและการเติบโตของมนุษย์ที่มีคุณภาพหนึ่งคน ต้องเติบโตทั้ง 3 ฐานคือ Head Heart Hand แน่นอนว่าเด็กต้องเฉลียวฉลาดมีความรู้ ภาษาต้องดี วรรณกรรมต้องอ่าน ไม่ว่าเขาจะเป็นนักคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ ความรู้ทางสติปัญญาต้องแม่นยำถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันเขาต้องมีร่างกายสมบูรณ์ครบทุกส่วน ใช้กล้ามเนื้อทุกมัดให้ได้ เราเชื่อว่าเมื่อเขามีร่างกายที่สมบูรณ์จะส่งผลให้สมองมีพัฒนาการต่อเนื่อง แต่แค่ 2 Head และ Hand ยังไม่พอ เด็กต้องถูกพัฒนาด้านความเป็นมนุษย์หรือจิตใจ Heart ควบคู่กันไปด้วย เพราะหากเด็กเป็นคนที่เก่งอย่างเดียว แต่ไม่รู้จักการเข้าสังคม ไม่มีทักษะความสามารถในการควบคุมตนเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนและคนรอบข้าง อนาคตเขาก็จะไปไม่รอด โรงเรียนจึงให้ความสำคัญกับการเติบโตทั้ง 3 ด้านเพื่อสร้างสมดุลให้เด็กเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม "โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพิ่งเปิดเรียนได้ 1 เดือน รับเด็กเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพียง 100 กว่าคน ตามกระบวนการที่เราคิดออกแบบไว้ข้างต้น คงเป็นเรื่องที่ยากจะทำนายว่าสิ่งที่เราออกแบบหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด 6 ปี จะปั้นให้เด็กคนหนึ่งออกมาเป็นหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เราวาดฝันไว้ว่า เด็กของเราจะเติบโตไปใน 2 มิติคือ หนึ่งเมื่อเด็กเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาควรจะต้องรู้ตัวเองแล้วว่า เขาอยากจะเป็นพลเมืองแบบไหนในสังคม มีภาวะผู้นำเพียงพอ และทำงานกับผู้อื่นเป็น และสองเราอยากให้เด็กของเราเติบโตไปเป็น "นวัตกรสังคม" หรือผู้ที่สร้างสรรค์สังคมด้วยวิธีคิดวิธีปฏิบัติแบบใหม่ๆ เพื่อให้สังคมนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ