ป.ป.ช. จับมือหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หวังสร้างเครือข่ายและการเสริมความแข็งแกร่งในการต่อต้านการทุจริต

ข่าวทั่วไป Tuesday September 12, 2017 14:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักป้องกันการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชน กำหนดจัดการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ในวันพุธที่ 13 กันยายน 2560 เวลา 13.00 - 17.00 ณ ห้องฟอร์จูนแพลตตินั่ม ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร สำหรับการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทยในครั้งนี้ จะกล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) และ สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 เพื่ออนุวัติการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 โดยมีประเด็นที่สำคัญ เช่น การกำหนดฐานความผิดสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่ บทกำหนดโทษสำหรับความผิดกรณีเรียกรับสินบน ฐานความผิดเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศเรียกรับสินบน และหลักการริบทรัพย์ตามมูลค่า (Value-Based Confiscation) โดยหวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือและการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการต่อต้านการทุจริต อันจะส่งผลต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมต่อไป อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนจัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อเป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งนี้ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมสื่อมวลชน และภาคการเมือง ซึ่งภาคธุรกิจเอกชนเป็นภาคส่วนที่สำคัญ ในการร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยที่ผ่านมาในภาคธุรกิจเอกชนในประเทศไทย ทั้งในส่วนที่เป็นธุรกิจ ของคนไทยและธุรกิจของต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยได้มีการดำเนินงานและให้ความสำคัญ ในการสร้างกลไกสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารธุรกิจ เช่น การบริหารงานให้เกิด บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ที่ดีในองค์กร การเน้นความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) โดยดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรม และการกำกับที่ดี ควบคู่ไปกับการส่งเสริม และสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ