SUPER POLL โพล เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับเงินในกระเป๋าประชาชน

ข่าวทั่วไป Thursday September 14, 2017 13:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล นางสาว ยุวดี วงศ์วระประเสริฐ รองประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจ โพลเศรษฐกิจ เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อการตั้งกระทรวงอุดมศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 1,167 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 25 สิงหาคม - 2 กันยายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.7 คิดว่า ประเทศไทยกำลังพัฒนาก้าวสู่ความเป็นประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในขณะที่ร้อยละ 40.3 คิดว่า ยังล้าหลังอยู่ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบความพึงพอใจของประชาชนต่อตัวชี้วัดความเป็นประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย โดยพบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 97.1 พอใจการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อันดับสอง หรือร้อยละ 96.7 พอใจการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้มากขึ้น อันดับสาม หรือ ร้อยละ 96.1 มีการรักษาและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น อันดับที่สี่ หรือ ร้อยละ 94.6 พอใจการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้มากขึ้น ในขณะที่ รองๆ ลงไปคือ ร้อยละ 72.4 พอใจการมีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่ง การคมนาคม การสื่อสารที่ดีขึ้น ร้อยละ 71.2 พอใจการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น ร้อยละ 69.9 พอใจการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นมากขึ้น ร้อยละ 68.8 พอใจการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อเนื่อง ร้อยละ 68.6 พอใจการสนับสนุนงานวิจัยข้อมูลสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ เพียงครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.0 ที่พอใจมาตรการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายต่างประเทศสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ตามลำดับ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.4 คิดว่าระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะมีผลดีต่อเงินในกระเป๋าของประชาชน อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.7 กังวลต่อปัญหาการเมือง เช่น ได้รัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ได้รัฐบาลไม่ดี นักการเมืองแบบเดิมๆ ความขัดแย้งในหมู่ประชาชน บ้านเมืองไม่สงบสุข เป็นอุปสรรคขัดขวางระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ รองลงมาคือ ร้อยละ 60.3 กังวลต่อ ปัญหาสังคม เช่น การศึกษาไม่มีคุณภาพมากพอ อาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาสุขภาพและระบบสาธารณสุขที่ไม่ดีเพียงพอ เป็นต้น และเกินครึ่งหรือร้อยละ 54.6 กังวลต่อ ปัญหาเศรษฐกิจ เช่น เศรษฐกิจโลกสั่นคลอน ความไม่เชื่อมันของผู้บริโภคภายในประเทศ สภาวะแกว่งตัวของตลาดหุ้น และโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจไม่ดีพอ เป็นต้น เป็นอุปสรรคขัดขวางระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.3 เชื่อมั่นว่า ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยจะสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้ ถ้ายังเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ