ปภ.รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 5 จังหวัด พร้อมประสานจังหวัดเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน

ข่าวทั่วไป Friday September 15, 2017 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 5 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี และพระนครศรีอยุธยา รวม 19 อำเภอ 109 ตำบล 512 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 758 ครัวเรือน 2,904 คน ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกมิติ มุ่งดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยเป็นหลัก พร้อมระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ควบคู่กับการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หย่อมความกดอากาศต่ำ พายุโซนร้อนตาลัสและพายุโซนร้อนเซินกา ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2560 ทำให้เกิด น้ำไหลหลากในพื้นที่ 44 จังหวัด 302 อำเภอ 1,724 ตำบล 14,105 หมู่บ้าน 43 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 609,425 ครัวเรือน 1,898,322 คน ผู้เสียชีวิต 44 ราย ดำเนินการช่วยเหลือแล้ว 40 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 4 ราย บ้านเรือนเสียหาย 4,649 หลัง แยกเป็น เสียหายบางส่วน 4,634 หลัง เสียหายทั้งหลัง 15 หลัง ดำเนินการช่วยเหลือแล้ว 2,106 หลัง อยู่ระหว่างดำเนินการ 2,543 หลัง ถนน 2,401 สาย คอสะพาน 111 แห่ง สะพาน 207 แห่ง ฝายและทำนบ 8,753 แห่ง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 2,838,000 ไร่ แยกเป็น นาข้าว 2,610,000 ไร่ พืชไร่ 220,000 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 8,000 ไร่ บ่อปลา 11,563 ไร่ ปศุสัตว์ 43,441 ตัว ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 39 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 5 จังหวัด แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี และภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา รวม 19 อำเภอ 109 ตำบล 512 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 758 ครัวเรือน 2,904 คน จุดอพยพ 8 จุด 864 ครัวเรือน 3,107 คน ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ พร้อมกำชับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วให้เร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ส่วนจังหวัดที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัยให้ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ควบคู่กับการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยเชื่อมโยงการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว นอกจากนี้ จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุโซนร้อน "ทกซูรี"บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนจะเคลื่อนผ่านอ่าวตังเกี๋ยและเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตอนใต้บริเวณเมืองวินห์ ประเทศเวียดนาม โดยจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนเข้าปกคลุมประเทศลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย จากนั้นจะอ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชันในระยะต่อไป ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในช่วงวันที่ 15 - 18 กันยายน 2560 ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ปภ.ได้เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มต่ำ ริมลำน้ำ ที่ลาดเชิงเขา ริมชายฝั่งทะเล และพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ