รัฐมนตรีช่วยฯ “ชุติมา” เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร จับคู่ผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือก

ข่าวทั่วไป Friday September 15, 2017 17:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร ณ จังหวัดนครราชราชสีมา ว่า ปัจจุบันความต้องการของประชากรของโลกและของไทยหันมาให้ความสนใจในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารที่มีความปลอดภัย ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวอินทรีย์ที่ผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับการบริโภคข้าวที่จะตอบสนองต่อการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งเป้าหมายอยู่ในประเทศที่มีเศรษฐกิจดี ประชาชนมีความต้องการซื้อสูง เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรได้รับจะสูงกว่าราคาข้าวเปลือกทั่วไป จึงเป็นโอกาสและช่องทางอันดีของเกษตรกรไทยที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวอินทรีย์ และข้าวที่มีการปฏิบัติตามระบบการเกษตรที่ดี (GAP) ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อการแข่งขัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเร่งผลักดันการเชื่อมโยงตลาด โดยจับคู่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์และข้าว GAP กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการ และจัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายผลผลิตข้าวจากโครงการฯ โดยจัดประชุมหารือกับผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการของจังหวัดนครราชสีมา (เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงตลาดรองรับผลผลิตข้าวอินทรีย์ของโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์) โดยนำกลุ่มเกษตรกรมาพบปะกับผู้ประกอบการที่แจ้งว่ามีความต้องการซื้อข้าวในโครงการ โดยจะให้ราคาที่สูงขึ้นตามคุณภาพ และจะเพิ่มให้ตันละ 300 – 500 บาท แล้วแต่ชนิดข้าว นางสาวชุติมา กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการค้าข้าวที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ สามารถขอให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี โดยมีระยะเวลาได้รับการชดเชยดอกเบี้ย คือ 1) ผู้ประกอบการค้าข้าวอินทรีย์ ได้รับการชดเชยดอกเบี้ย ในระยะเวลา 3 ปี และ 2) ผู้ประกอบการค้าข้าว GAP ได้รับการชดเชยดอกเบี้ย ในระยะเวลา 1 ปี "โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร จะสามารถแก้ปัญหาราคาข้าวได้อย่างยั่งยืน สามารถวางแผนการใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังมุ่งสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งจะทำให้การเกษตรของไทยได้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านการเชื่อมโยงตลาดอีกด้วย" นางสาวชุติมา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ