กสอ. ชี้อานิสงส์การท่องเที่ยวภาคใต้โต พร้อมดันหลายอุตฯ โตตาม เผยเตรียมเร่งอัดโครงการ – กองทุนฯ หนุนกลุ่มอุตฯ บริการ ปี 60 – 61

ข่าวท่องเที่ยว Monday September 18, 2017 16:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กสอ.โชว์ตัวอย่างผปก.โรงแรมกระบี่รุกสร้างเครือข่ายอินเดีย – จีน พร้อมยกระดับ "พอชเทล" ที่พักหรูเจาะนักท่องเที่ยว กลุ่ม F.I.T.ราคาเบาสบายใต้บริการ 4 ดาว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ชี้การท่องเที่ยวในปี 2559 ที่ผ่านมายังสดใสส่งผลดีต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับภาคดังกล่าวให้มีการเติบโต ได้แก่ กลุ่มโรงแรม อาหารและเครื่องดื่ม การขนส่งทางบก - ทางอากาศ กีฬา และสินค้าชุมชน โดยการเติบโตที่เกิดขึ้นคาดว่าในปีนี้จะทำให้มีนักท่องเที่ยว และเกิดรูปแบบกิจกรรมตามขึ้นมาด้วย อาทิ นักท่องท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจ ด้านสุขภาพและการแพทย์ นักท่องเที่ยวที่เน้นการเข้าถึงระบบดิจิทัลที่ทำให้ภาคการผลิตและภาคบริการ ต้องปรับตัวมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2561 กระทรวงอุตสาหกรรม โดย ธนาคาร SME Development Bank เตรียมมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อ SMEs ที่ประกอบธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในวงเงิน 7,500 ล้านบาท รวมทั้ง กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐในวงเงินอีก 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ SMEs ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ และเกิดการพัฒนาธุรกิจอย่างครบวงจร อย่างไรก็ตามข้อมูลพบว่า ภาคใต้มีนักท่องเที่ยว 47 ล้านครั้ง รองจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่การเติบโตด้านการท่องเที่ยวสูง ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่ กสอ. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ การผลักดัน SMEs ที่มีศักยภาพตามแต่ละท้องถิ่นให้มีแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้เกิดการต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการ ที่เชื่อมโยงกับเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และกิจกรรมการท่องเที่ยว โดย กสอ. มีกลยุทธ์ในการพัฒนาแนวทางการกำหนดให้สินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการ โดยต้องมี การสร้างเรื่องราวหรือมุมมอง ข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นภาพหรือข้อความล้วนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องสร้างให้ผู้บริโภค มีความรู้สึกถึงเหตุผล ที่จำเป็นต้องเลือกซื้อสินค้าหรือบริการสามารถเติมเต็มสิ่งที่มองหา และต้องเน้นความรู้สึกก่อนและหลังบริโภคให้มีทิศทางเดียวกัน การสร้างความหลากหลาย กลยุทธ์ในการตลาดอย่างหนึ่งคือการสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น รูปแบบ ขนาด ราคา เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ตรงใจ แต่อย่างไรก็ตาม แม้สินค้าหรือบริการจะมีอย่างมากมายก็ต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อการตัดสินใจในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดและรวดเร็ว รวมถึง การสร้างนวัตกรรมและการเชื่อมโยงกับดิจิทัล ระบบดิจิทัลเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ผู้ประกอบการหรือบุคลากรต้องนำมาประยุกต์ใช้ในทางธุรกิจ โดยต้องทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกถึงความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่ายเนื้อหาไม่ซับซ้อน ทั้งยังต้องนำมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดการสร้างคุณค่าและมูลค่าของสินค้าและบริการโดยดิจิทัลยังเป็นกลไกการตลาดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจกันอย่างเข้มข้น ดร.พสุ กล่าวต่อว่า สำหรับความสำคัญของการท่องเที่ยวถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงและส่งผลต่อทั้งการพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรม การผลิตสินค้าและการบริการรวมถึงการกระจายรายได้ไปสู่จังหวัดและชุมชน โดยภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมานั้น พบว่าธุรกิจโรงแรมประมาณ 580,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 448,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมและธุรกิจการขนส่งโดยสารทางบก ประมาณ 136,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมและธุรกิจการขนส่งโดยสารทางอากาศ ประมาณ 122,000 ล้านบาท ธุรกิจบริการด้าน/นันทนาการ และกีฬาประมาณ 100,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมสินค้าชุมชนและโอทอป 80,400 ล้านบาท โดยยังก่อให้เกิดการจ้างงานอีกกว่า 4,230,000 คน (ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวฯ , กรมการพัฒนาชุมชน) ส่วนทางด้านสถานการณ์ในไตรมาสที่ 1 – 2 ของปี 2560 สถานการณ์รายได้จากชาวต่างชาติ มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.76 ล้านล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่ผ่านมา (ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งคาดว่าการเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะส่งผลดี กับภาคการผลิตและภาคบริการโดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่น โดยมั่นใจว่าจะปรับตัวได้ดีตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้การเติบโตที่เกิดขึ้นยังคาดว่าในปีนี้จะเกิดนักท่องเที่ยวและรูปแบบกิจกรรมใหม่ ๆ ตามขึ้นมาด้วย เช่น นักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เป็นผลดีอย่างมากสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมในด้านสุขภาพ สปา การแพทย์ โรงแรมที่พักระยะยาว การเติบโตของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่พี่งพาระบบดิจิทัล เป็นผลให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน ที่หลาย ๆ การผลิตสินค้าและบริการต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลที่เข้าใจง่ายและบริการที่รวดเร็วมากขึ้น (โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่แอปพลิเคชัน เฟสบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม) นอกจากนี้ องค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ยังได้ประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวชุมชน และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างมากที่จะทำให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดแนวทางและสร้างสรรค์รูปแบบการผลิตสินค้าหรือบริการ เช่น หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การผลิตสินค้าโอทอป รวมถึงความนิยมในการท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมสิ่งที่มนุษย์สร้าง และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกมากมาย เป็นต้น ดร.พสุ กล่าวต่ออีกว่า ภาคใต้ซึ่งเป็นภาคที่มีการท่องเที่ยวมากที่สุด มีรายได้จากการท่องเที่ยว 6.94 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีมูลค่า 5.92 แสนล้านบาท (ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวฯ) โดยเฉพาะในแถบภาคใต้ฝั่งอันดามันซึ่งมีจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นเลิศในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลชั้นนำที่ติดอันดับและได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก มีการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมามากกว่า 22 ล้านครั้ง ต่อเนื่องถึงการใช้จ่ายในการบริโภคด้านต่าง ๆ อีกประมาณ 4,700 บาท/คน/วัน (ที่มา : กรมการท่องเที่ยว) โดยจากการเติบโตของภาคนี้นับเป็นโอกาสอันดีในการที่จะเร่งพัฒนาทั้งอุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจด้านการบริการ เช่น อุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป บริการด้านสปา โรงแรม โดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต ได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้น ด้านความต้องการบริโภค และการขยายเที่ยวบินสู่ท่าอากาศยานของจังหวัด นอกจากนี้ ในด้านการเติบโตของธุรกิจโรงแรมคาดว่าภูเก็ตน่าจะมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณห้องพักในปี 2560 ประมาณ 600 ห้อง และปี 2561 ประมาณ 800 ห้อง กระบี่จะมีการขยายโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย อาทิ สวีเดน นอร์เวย์ และพังงา ก็น่าจะมีการขยายตัว เนื่องจากปัญหาการแออัดของนักท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต จึงทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางสู่กระบี่และพังงามากขึ้น นอกจากนี้ ในกลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามันยังสามารถส่งเสริมการสร้างสรรค์สินค้าชุมชน การเชื่อมโยงด้านการเกษตร การทำธุรกิจสปา สตาร์ทอัพ การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวสู่กลุ่มไฮคลาสได้อีกด้วย สำหรับแผนพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในปีงบประมาณต่อไป ยังคงมุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สอดรับโดยเฉพาะในกลุ่ม S-Curve อาทิ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป การเกษตร การแพทย์และสุขภาพ ธุรกิจภาคบริการ พร้อมด้วยการมุ่งหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภายใต้โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV ให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผนวกกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับภาคท่องเที่ยว อีก 10 ชุมชน โดยจากความสำเร็จของ 9 หมู่บ้านในปีนี้ได้เกิดต้นแบบสินค้ากว่า 100 ประเภท และหลากหลาย ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้จะเป็นตัวอย่างในการพัฒนาชุมชนถัดไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยธนาคาร SMEDevelopment Bank ยังเตรียมมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อ SMEs ที่ประกอบธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในวงเงิน 7,500 ล้านบาท พร้อมด้วยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐในวงเงิน อีก 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ SMEs ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ และเกิดการพัฒนาธุรกิจอย่างครบวงจร เมื่อเร็ว ๆ นี้ กสอ. ยังได้จัดกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อผลักดัน SMEs ที่มีศักยภาพตามแต่ละท้องถิ่น และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความต้องการและศักยภาพของจังหวัด พร้อมเปิดมาตรการในการสนับสนุนผู้ประกอบการภาคบริการในภาคต่าง ๆ และได้เยี่ยมชม โรงแรมกระบี่ ทิพา รีสอร์ท หนึ่งในตัวอย่างผู้ประกอบการภาคบริการที่มีการปรับตัวตามกระแสเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ณ หาดอ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 077 203 958 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ