จากขยะ..สู่เทรนด์รักษ์โลก

ข่าวทั่วไป Tuesday September 19, 2017 15:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ขยะในประเทศไทยและทั่วโลกมีสถิติเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร การประชุมเชิงปฏิบัติการ สร้างจิตสำนึกพลเมือง "พลเมืองรุ่นใหม่ เท่าทันสถานการณ์ขยะ" จัดโดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อปลูกจิตสำนึกและหาแนวทางร่วมกันของเยาวชนในฐานะพลเมืองรุ่นใหม่ โดยมีประเด็นการเรียนรู้5 หัวข้อ ได้แก่ 1. พฤติกรรมการทิ้งขยะของคนในสังคม 2. การสร้างขยะในชีวิตประจำวัน 3. การจัดการขยะ 4. ศึกษามุมมอง/ความคิดของคนทั่วไปเกี่ยวกับขยะ และ 5. ขยะอันตราย ผ่านมุมมองถึง"วิถี"ชุมชนโดยเยาวชนรุ่นใหม่ที่บอกเล่าในการจัดการ"ขยะเจ้าปัญหา" ซึ่งการจัดกรรมในครั้งนี้นอกจากการได้รับความรู้จากวิทยากรแล้ว เยาวชนได้ลงพื้นที่และทำกิจกรรมต่างๆประกอบด้วย "กิจกรรม ขยะที่ฉันผลิตใน 1 วัน" เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการสร้างขยะจากตัวเราเองที่การเป็นต้นทางของขยะ ด้วยการแจกกระเป๋าผ้าให้น้องๆคนละ1ใบเพื่อเก็บขยะของตัวเองที่สร้างขึ้นให้น้องๆ เยาวชนเห็นว่าใน"หนึ่งวัน" เราสร้างขยะของตัวเองเป็นปริมาณเท่าไร จากการถุงขนม เปลือกลูกอม ขวดน้ำพลาสติก "กิจกรรมลงพื้นที่บ่อขยะที่เทศบาลตำบลเกาะแต้ว" เพื่อให้น้องๆเยาวชนได้เห็นภาพขยะปลายทางหลังจากที่รถเทศบาลเก็บแล้วนำมาทิ้ง หลายคนถึงกับอึ้งเมื่อเห้นภาพกองขยะที่สูงราวกับภูเขาขยะย่อมๆที่มาพร้อมกับกลิ่นเหม็นตลบอบอวล "กิจกรรมเก็บ กวาด ร่อน" เป็นกิจกรรมลงพื้นที่ชุมชนเก้าเส้ง ซึ่งเป็นชุมชนริมหาดและเป็นชุมชนปากคลองที่ขึ้นชื่อว่ามีขยะและสิ่งปฏิกูลจำนวนมาก เพราะนอกจากชาวบ้านในตัวชุมชนทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางแล้ว ชุมชนดังกล่าวยังเป็นพื้นที่รองรับขยะจากชุมชนอื่นด้วย นอกจากเก็บ กวาด ร่อนแล้ว เยาวชนยังเข้าไปพูดคุยสื่อสารและทำความเข้าใจกับคนในชุมชนถึงผลกระทบของการทิ้งขยะ แล้วกลับมาทบทวนถึงปัญหาที่พบจากการลงพื้นที่จริง โดยเยาวชนสะท้อนว่า ขยะในชุมชนส่วนใหญ่ที่พบเจอมากที่สุดคือ ถุงพลาสติก ขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่แตกร้าวริมหาด เหล็กขึ้นสนิม ซากอวนเก่า ฯลฯ สุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรี ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในฐานะวิทยากร กล่าวว่า"นโยบายการจัดการขยะ"นั้น ต้องทำให้นโยบายเป็นปฏิบัติการทางสังคมที่เกิดจากประชาชนมิใช่จากภาครัฐหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ภายใต้กระบวนการที่สังคมต้องเป็นผู้กำหนดกติกาเอง โดยมองว่า ความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะในชุมชนเป็นแบบ"เกิดช่องว่างของความรู้" เพราะไม่สามารถสื่อสารกันได้ ดังนั้น การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมแก่ชุมชนในการดำเนินการจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้ชุมชนเกิดความร่วมมือและเห็นปัญหาเรียนรู้การแก้ปัญหาร่วมกัน ขณะเดียวกันหากมีการจัดการที่ดีจะทำให้ขยะกลายเป็นทรัพยากรมีมูลค่า และสามารถนำกลับมาใช้กับภาคสังคมได้มากขึ้น ทั้งนี้ แนวทางที่เทศบาลตำบลปริกนำมาใช้ในการจัดการขยะโครงการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน พบว่าชุมชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบนั้นจะมีปริมาณขยะค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากร รวมทั้งการปลูกฝังให้คนในชุมชนช่วยกันคัดแยกขยะ โดยให้ความรู้ความเข้าใจแก่คนในชุมชน เช่น การคัดแยกขยะอินทรีย์ที่มีทุกบ้าน และการมีสำนึกในการรักษาความสะอาดของชุมชน จะทำให้สามารถลดขยะปริมาณขยะลงได้ นายกเทศมนตรี ตำบลปริก ยังกล่าวอีกว่า แม้ทิศทางการจัดการปัญหาขยะในปัจจุบัน เริ่มมีทิศทางการจัดการไปได้ด้วยดี อย่างการนำสิ่งเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ หรือแปรสภาพไปเป็นอย่างอื่นที่เกิดมูลค่า แต่ยังจำเป็นต้องมีแนวทางส่งเสริมให้ลดปริมาณขยะลง รวมถึงการหลีกเลี่ยงใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ ขณะเดียวกันการสร้างจิตสำนึกสาธารณะแก่คนทั่วไปให้รู้จักรับผิดชอบต่อสังคม จะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนที่สุด ที่สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนภาคสังคมไปได้ไกลกว่าการจัดการขยะที่เกิดขึ้นเวลานี้ ด้านสาคร จันทร์มณี เจ้าพนักงานสุขาภิบาลชำนาญงาน สำนักงานเทศบาลนครสงขลา ในฐานะวิทยากร กล่าวว่า ปัจจุบันเทศบาลนครสงขลามีชุมชนทั้งหมด 56 ชุมชน ประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 80,000 คน โดยมีขยะเฉลี่ยประมาณ 80-82 ตัน/วัน ส่วนใหญ่เป็นขยะประเภทกิ่งไม้ สิ่งของจากบ้านเรือนที่ไม่ได้ใช้แล้ว เช่น ที่นอน หมอน มุ้ง เป็นต้น ส่วนขยะอินทรีย์หรือพลาสติกมีจำนวนลดหลั่นกันไป และเมื่อรถเก็บขยะจากบ้านเรือนแล้วจะนำไปกำจัดแบบฝังกลบที่เทศบาลตำบลเกาะแต้วซึ่งเป็นบ่อขยะขนาดใหญ่ ปัญหาที่พบจากการสำรวจ คือการทิ้งขยะโดยไม่ได้คัดแยก โดยเฉพาะนักเรียน-นักศึกษาที่อาศัยในหอพัก ส่วนบ้านเรือนของประชาชนยังมีแยกบ้างแม้จะไม่เต็ม100% ก็ตาม "เพราะในเทศบาลนครสงขลามีประชากรแฝงเยอะ นักท่องเที่ยวเยอะ การปลูกจิตสำนึกให้เขารักในชุมชนจึงเป็นเรื่องยาก แต่ทางเทศบาลก็ไม่นิ่งนอนใจที่จะรณรงค์ให้เกิดการคัดแยกขยะ เพราะจะทำให้ง่ายต่อการกำจัด และการคัดแยกขยะเป็นเรื่องสำคัญเพราะขยะบางประเภทสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จะช่วยลดปริมาณขยะลงได้ด้วย" ด้านน.ส.ดารารัตน์ ไหมแก้ว เยาวชนจากโครงการเปลี่ยนชานอ้อยให้เป็นกระดาษ กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้เกิดความตระหนักในการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างขยะ และมองว่าปัญหาขยะเป็นปัญหาที่แก้ได้ไม่ยาก หากทุกคนเริ่มต้นที่ตัวเราเอง ด้วยการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับตัวเองก่อน จะทำให้ขยะลดลงด้วยเช่นกัน "กิจกรรม 2 วันที่ผ่านมาเมื่อได้มาเข้าร่วมกิจกรรมหนูเริ่มไม่รับถุงจากการซื้อขนมที่ร้านค้า และหากจะซื้อน้ำดื่มสักแก้วหรือใส่ถุง ก็เริ่มคิดเอะใจว่าน้ำ 1แก้วหรือน้ำ 1 ถุง ประกอบด้วยขยะกี่ชิ้น และหากเปลี่ยนมาเป็นใส่แก้วน้ำของเราจะทำให้เราสามารถลดปริมาณขยะได้ในแต่ละวันด้วย เพราะแม้ว่าถุงพลาสติกจะสร้างความสะดวกแก่เราแต่ถ้าเราลดการใช้จะทำให้ช่วยลดขยะไปได้ด้วยเช่นกัน" อย่างไรก็ตาม เยาวชนหลายคนสะท้อนว่า การลดขยะที่แท้จริงเริ่มต้นจากตัวเอง ขณะเดียวกันรู้สึกเข้าใจและมองเห็นปัญหาขยะว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หรือเรื่องของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป แต่นี่คือปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข...โดยเริ่มต้นที่ต้นทางของขยะนั่นเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ