บอร์ดบีโอไออนุมัติส่งเสริมลงทุน 28,000 ล้าน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 26, 2017 13:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--บีโอไอ บอร์ดบีโอไอให้ส่งเสริมการลงทุน 3 กิจการใหญ่ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 28,000 ล้านบาท ค่ายรถยนต์ "ซูบารุ" ขยายการลงทุนในไทย 5 พันล้านบาท นิคมอุตสาหกรรมเกิดใหม่ในชลบุรี ลงทุนรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนจำนวน 3 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 28,227 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ทั่วไปเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โดยบริษัทจะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งอเนกประสงค์รุ่นที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์และมีประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยสูงสุดของรถยนต์ซูบารุในประเทศไทย จากเดิมมีฐานการผลิตอยู่แล้วที่มาเลเซีย ได้ขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องจากเห็นโอกาสและการเติบโตด้านยอดขายทั้งในไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริษัทจะใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เช่น ถุงลมนิรภัย กระจก เบาะนั่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,824 ล้านบาทต่อปี 2.นายเกียรติศักดิ์ เลิศศิริอมร ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการเขตอุตสาหกรรม เงินลงทุนทั้งสิ้น 20,476 ล้านบาท โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่ขนาด 9,832 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านบึง และอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาบริเวณชายฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard) มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมบริการสาธารณูปโภคหรืออุตสาหกรรมสนับสนุน และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ 3.บริษัท เอเชีย คอมโพสิต แมททีเรียล (ไทยแลนด์) จำกัด ขยายกิจการผลิตเส้นใยไฟเบอร์กลาส (Fiberglass Roving) เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,751 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง โดยเส้นใยไฟเบอร์กลาสเป็นวัสดุเสริมแรงให้กับพลาสติกในการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นอกจากมีความแข็งแรง ยังเป็นฉนวนกันความร้อน ซึ่งระหว่างปี 2558-2563 ความต้องการไฟเบอร์กลาสของตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 สำหรับผลิตภัณฑ์ตามโครงการนี้มีคุณสมบัติทนทานต่อการกัดกร่อนเหมาะสำหรับใช้ผลิตท่อที่ต้องการความแข็งแรงสูง หรือใช้ทอเป็นผืนผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงการนำไปผลิตใบพัดกังหันลมผลิตไฟฟ้า คาดว่าจะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น แร่ Pyrophyllite, Quartz sand และ Limestone มูลค่ากว่า 196 ล้านบาทต่อปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ