ปภ.เตือนการใช้สัญญาณไฟผิดวัตถุประสงค์...เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

ข่าวทั่วไป Wednesday September 27, 2017 15:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีใช้สัญญาณไฟอย่างถูกวิธี โดยเปิดใช้ไฟฉุกเฉินเมื่อรถจอดเสียบนถนน หรือริมไหล่ทาง เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่รถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง เปิดไฟตัดหมอกเมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี และปิดไฟตัดหมอกเมื่อมีรถขับสวนทางมาในระยะ 150 เมตร ส่วนไฟสูงควรเปิดใช้กรณีขับผ่านเส้นทางที่มืดมาก เมื่อมีรถขับสวนทางมาให้เปลี่ยนมาใช้ไฟปกติ ขณะที่ไฟเลี้ยวควรเปิดใช้ก่อนเปลี่ยนช่องทาง หรือเลี้ยวรถในระยะไม่ต่ำกว่า 60 เมตร จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า บ่อยครั้งที่ผู้ขับขี่ ใช้สัญญาณไฟผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ผู้ขับรถคันอื่นเกิดความเข้าใจผิด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีใช้สัญญาณไฟอย่างถูกวิธี ดังนี้ ไฟฉุกเฉิน ผู้ขับขี่มักเปิดไฟฉุกเฉินเมื่อขับข้ามทางแยก ทำให้ผู้ที่ขับรถมาจากทางด้านซ้ายและขวามองเห็นไฟกะพริบเพียงข้างเดียว จึงเข้าใจว่ารถกำลังจะเลี้ยว ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ อีกทั้งการเปิดไฟฉุกเฉินค้างไว้ทำให้ไม่มีสัญญาณไฟเลี้ยวใช้เมื่อเปลี่ยนช่องทางหรือเลี้ยวรถ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย ควรเปิดใช้ไฟฉุกเฉินเมื่อรถจอดเสียบนถนนหรือริมไหล่ทาง เพื่อเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุ รวมถึงไม่เปิดใช้ไฟฉุกเฉินเมื่อขับรถข้ามทางแยกที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร ไฟตัดหมอก การเปิดใช้ไฟตัดหมอกในเส้นทางที่มีทัศนวิสัยปกติ นอกจากจะผิดกฎหมายจราจรแล้ว แสงของไฟตัดหมอกที่สว่างมากกว่าปกติ จะรบกวนสายตาของผู้ขับรถคันอื่น ทำให้มองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพื่อความปลอดภัย ควรเปิดใช้ไฟตัดหมอกในเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี เช่น ฝนตกหนัก ควันไฟหรือหมอกควัน ปกคลุมเส้นทาง เป็นต้น และปิดไฟตัดหมอกเมื่อมองเห็นเส้นทางชัดเจน หรือมีรถขับสวนทางมาในระยะ 150 เมตร เพื่อไม่ให้แสงไฟรบกวนสายตาของผู้ขับรถคันอื่นจนเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ ไฟสูง การกะพริบไฟสูงเมื่อขับรถผ่านทางแยก อาจทำให้ผู้ขับรถคันอื่นเข้าใจว่าเป็นการให้ทาง ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งกฎหมายจราจรไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่าให้เปิดใช้ไฟสูง ในสถานการณ์ใด โดยคนไทยมักใช้กรณีขอทาง หรือเตือนมิให้เข้ามาในช่องทางเดินรถของตนเอง ในขณะที่บางประเทศ การเปิดใช้สัญญาณไฟสูงเป็นการให้ทางแก่ผู้ร่วมใช้เส้นทาง เพื่อความปลอดภัย ควรเปิดใช้ไฟสูงเป็นระยะกรณีขับผ่านเส้นทางที่มืดมาก หรือไม่มีแสงไฟส่องสว่างริมข้างทาง เมื่อมีรถขับสวนทางมาให้เปิดใช้สัญญาณไฟปกติ เพื่อไม่ให้แสงไฟรบกวนสายตาของผู้ขับรถคันอื่น ทำให้ตาพร่ามัว ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ไฟเลี้ยว การเปิดไฟเลี้ยวค้างไว้ ทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางเข้าใจว่ารถกำลังจะเลี้ยว รวมถึงการไม่ให้สัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าก่อนเปลี่ยนช่องทางหรือเลี้ยวรถ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพื่อความปลอดภัย ควรเปิดไฟเลี้ยวก่อนเปลี่ยนช่องทางหรือเลี้ยวรถล่วงหน้าในระยะไม่ต่ำกว่า 60 เมตร เพื่อให้ผู้ขับรถคันอื่นทราบทิศทางการเดินรถ จะได้ชะลอความเร็วรถและให้ทาง รวมถึงปิดไฟเลี้ยวเมื่อขับรถเข้าช่องทางแล้ว เพื่อป้องกันผู้ร่วมใช้เส้นทางเข้าใจผิด ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้ การใช้สัญญาณไฟอย่างถูกวิธี และเหมาะสมกับสถานการณ์ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ