ทีมแพทย์ฉุกเฉินเปิดตัวเทคโนโลยีระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ (AOC) และ A-Live Wristband ดูแลสุขภาพคนไทยอย่างใกล้ชิด นำร่องแล้ว 6 จังหวัด พบช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข่าวทั่วไป Friday September 29, 2017 13:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--TELY360 ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยปัจจุบันมีการพัฒนาไปตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยในปัจจุบัน แต่ก็ถือว่ายังมีข้อจำกัดในอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ดังนั้นทีมผู้ชำนาญการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของไทย ร่วมกับ บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด จึงใช้เวลากว่า 2 ปี เพื่อคิดค้นระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ (Ambulance Operation Center) หรือ AOC ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชน หัวใจของระบบนี้จะสร้างสมองของแพทย์ให้อยู่ในรถพยาบาลทุกคัน และให้แพทย์ฉุกเฉินหนึ่งคนสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้นกว่าเดิม นพ.รัฐระวี พัฒนรัตนโมฬี นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวถึงการทำงานของระบบ AOC ว่ามีศูนย์กลางการทำงานอยู่ที่ศูนย์สั่งการ ซึ่งจะอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 จังหวัด 1 ศูนย์ โดยศูนย์สั่งการจะเชื่อมต่อกับระบบบนรถพยาบาล ดังนั้นเมื่อประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็สามารถเรียกรถพยาบาลได้ทันที ผ่านแอพลิเคชั่น A-Live หรือ โทร 1669 จากนั้นศูนย์สั่งการจะส่งรถพยาบาลที่เหมาะสมและอยู่ใกล้สถานที่ของผู้ป่วยที่สุดไปช่วยเหลือ โดยผู้ป่วยจะสามารถรู้ได้เลยว่ารถพยาบาลจะมาถึงภายในกี่นาที หรืออยู่ที่ไหนแล้ว ลดความกังวลในการสื่อสารถึงสถานะของรถพยาบาลว่าจะมาถึงที่เกิดเหตุเมื่อไหร่ เส้นทางเป็นอย่างไร จากนั้นเจ้าหน้าที่และแพทย์บนรถจะทำการรักษาระหว่างนำส่งโรงพยาบาล รวมทั้งสามารถปรึกษาอาการกับแพทย์ที่โรงพยาบาลปลายทางได้ ผ่านระบบการสื่อสารด้วยภาพและเสียงแบบต่อเนื่อง(real time)ทำให้เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที "ระบบ AOC เริ่มใช้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดแรก จากนั้นมีการติดตั้งระบบทดลองเพิ่ม และใช้งานจริงในโรงพยาบาลตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ โดยที่จังหวัดขอนแก่นได้เริ่มทดลองนำมาใช้ติดตั้งให้รถพยาบาลไปแล้วทั้งสิ้น 14 อำเภอ หลังจากเริ่มใช้ประโยชน์ที่เห็นชัดที่สุด คือ สามารถเริ่มต้นให้การรักษาผู้ป่วยที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โอกาสรอดชีวิตก็มีมากขึ้น ที่สำคัญระบบ AOC ยังเข้ามาปิดช่องว่างเดิมของการแพทย์ฉุกเฉิน ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นใน 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือช่วยให้แพทย์รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินได้ ตั้งแต่บนรถพยาบาล โดยแพทย์จะเห็นอาการและให้คำปรึกษาเจ้าหน้าที่บนรถพยาบาลได้เลย เป็นการลดช่องว่างระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ประเด็นที่สอง คือ เมื่อทุกอย่างรวมศูนย์ ก็จะสามารถจัดสรรรถฉุกเฉินที่เหมาะสมและใกล้ที่สุดไปรับผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการคิดค้นและพัฒนาโดยคนไทย ทำให้งบประมาณในการผลิตลดลง จากเดิมที่ต้องสร้างระบบในรถพยาบาลคันละ 1 ล้านบาท เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ระบบ AOC ใช้งบประมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 450,000 บาท หรือลดลงกว่าครึ่ง แถมยังมีประสิทธิภาพเหนือกว่า และที่สำคัญเมื่อคิดค้นโดยคนไทย ทำให้ตอบโจทย์ และรู้ถึงธรรมชาติของระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี" นพ.รัฐระวีกล่าว ด้านนายกิจกมน ไมตรี Founder & CEO บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาระบบ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากระบบ AOC แล้ว บริษัทฯ ยังคิดค้นเทคโนโลยีสำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อมารองรับกับระบบดังกล่าว และให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต คือแอพพลิเคชั่นและริสแบนด์ A-Live ที่เสมือนเป็นตัวช่วยในการดูแลสุขภาพ สามารถคำนวนการก้าวเดิน การเผาผลาญแคลอรี่ คำนวนเวลานอนหลับ การเต้นของหัวใจ ออกซิเจนในเลือด วัดความดัน โดยจะเชื่อมต่อกับ แอพพลิเคชั่นชีวิตละมุน (A-Live) ที่สามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลประกันชีวิต ข้อมูลการติดต่อครอบครัว ซึ่งเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุกะทันหัน เพียงกดรูปรถพยาบาลเพื่อขอความช่วยเหลือ ระบบจะส่งสัญญาณไปยังศูนย์สั่งการ หรือ โทรเข้า 1669 โดยอัตโนมัติ อีกทั้งเมื่อทีมกู้ชีพพบผู้ป่วยที่สวมใสริสแบนด์ ก็สามารถสแกนข้อมูลบาร์โค้ดบนริสแบนด์ เพื่อดูข้อมูลสุขภาพและส่งไปยังโรงพยาบาลปลายทาง ทำให้การรักษารวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังแจ้งเตือนส่งข้อมูลไปยังครอบครัวเพื่อให้รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันที

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ