สคร. 10 อุบลฯ ห่วง ปิดเทอมเด็กเสี่ยงจมน้ำ เสียชีวิต

ข่าวทั่วไป Monday October 16, 2017 15:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี นพ.ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2550 - 2559 เฉพาะเดือนตุลาคมเดือนเดียว มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 101 คน โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา พบเด็กไทยจมน้ำเสียชีวิต 699 ราย เป็นเด็กเพศชายมากกว่าเพศหญิงเกือบ 3 เท่าตัว การจมน้ำยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทย อายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รองลงมา 5-9 ปี ส่วนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัดของ สคร. 10 พบว่า ในปี 2559 พบเด็กจมน้ำเสียชีวิต 57 ราย เฉพาะเดือนตุลาคมเดือนเดียวมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 6 ราย นพ.ดนัย กล่าวอีกว่า การว่ายน้ำเป็นกิจกรรมที่เด็กมักรวมกลุ่มกับเพื่อนไปเล่นและทำกิจกรรมยามว่างกัน โดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียน มีอัตราการตายของเด็กจมน้ำสูงที่สุดเด็กจะอยู่บ้านและรวมกลุ่มกับเพื่อนๆไปเล่นตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งผู้ปกครองต้องคอยสังเกตและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการลงเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้ ประกอบกับช่วงนี้ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลำคลอง สระน้ำ มีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ ไหลเชี่ยวแรงและมีระดับความลึกมาก ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการจมน้ำมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยและป้องกันเด็กจากการจมน้ำในช่วงหน้าฝนและช่วงปิดเทอม อันดับแรก ผู้ปกครองควรสอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนแหล่งน้ำที่เด็กคุ้นเคยอาจมีระดับน้ำที่เปลี่ยนไปจากเดิม ถ้าเป็นไปได้อยากให้ผู้ปกครองหาช่องทางการฝึกว่ายน้ำให้เด็กว่ายน้ำเป็นเพื่อลดการเสียชีวิต ส่วนชุมชนควรสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงและติดป้ายเตือนพร้อมติดตั้งอุปกรณ์การช่วยคนตกน้ำที่หาได้ง่ายในชุมชน ไม่ควรปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำหรือยืนใกล้แหล่งน้ำ ขอบบ่อ พร้อมทั้งต้องสอนให้เด็กมีทักษะการเอาชีวิตรอดและวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำ ที่ถูกต้อง และในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรหาพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยหรือนำเด็กไว้ในคอกกั้นเด็กขณะทำกิจกรรมเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ทั้งนี้ มาตรการสำคัญที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ "ตะโกน โยน ยื่น" ได้แก่ 1.ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ