กยท. เปิดตลาดกลางน้ำยางสดแห่งแรกของประเทศ นำร่อง พื้นที่เขตภาคใต้ตอนล่าง เชิญ บ.ถาวรอุตฯ เอกชนรายใหญ่ เคาะเปิดตลาดวันแรก รับซื้อน้ำยางสด 44.50 บาท/กก.

ข่าวทั่วไป Thursday October 19, 2017 13:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--การยางแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 กยท. เปิดตลาดกลางน้ำยางสดแห่งแรกของประเทศ เคาะวันแรกเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำยางข้นรายใหญ่ของประเทศ ขานรับ ราคาพุ่ง 44.50 บาท/กก. มุ่งเชื่อมโยงตลาดเครือข่ายน้ำยางสดทั้งหมด พร้อมกำหนดราคาอ้างอิงน้ำยางสดจาก ตลาด กยท. ได้ เพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม มีอำนาจต่อรอง และที่สำคัญ ยกระดับราคาน้ำยางสดในพื้นที่ให้เกิดเสถียรภาพ และผู้ประกอบการจะซื้อผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานในปริมาณมาก เพราะตลาดกลางน้ำยางสด มีระบบควบคุมคุณภาพ และรูปแบบการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง มีพื้นที่ในความรับผิดชอบครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ5.1 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 23.18 ของประเทศ และมีผลผลิตรวม 1,117,880 ตัน/ปี โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ยึดถือการทำสวนยางเป็นอาชีพหลักมาอย่างยาวนาน ฉะนั้น ยางพาราจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่เขตภาคใต้ตอนล่างผลิตและจำหน่ายส่วนมากจะเป็นรูปแบบของน้ำยางสดเป็นหลัก ทำให้ กยท.ได้มีการผลักดันการจัดตั้งกลุ่มน้ำยางสดของเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 452กลุ่ม พร้อมทั้ง ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์รวบรวมน้ำยางสดหรือบ่อน้ำยาง เพื่อรวบรวมน้ำยางสดจากกลุ่มย่อย อีกจำนวน11 ศูนย์ สามารถรวบรวมน้ำยางสด คิดเป็นปริมาณเนื้อยางแห้ง 16,000 ตัน/ปี มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 900 ล้านบาท/ปี นับว่าเป็นผลผลิตที่สร้างมูลค่าไม่น้อยให้แก่เกษตรกร และระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ นายธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายปีที่ผ่านมาระบบบริหารจัดการตลาดน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกร ยังไม่สามารถสร้างระบบในการบริหารจัดการน้ำยางสดให้มีประสิทธิภาพได้เท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางกฎระเบียบ และข้อจำกัดของน้ำยางสดทั้งระยะเวลาในการเก็บรักษา การขนส่ง กลยุทธ์ทางการค้าการแข่งขันที่รุนแรง รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ทำให้การขายน้ำยางสดของเกษตรกรยังไม่ได้ราคาที่เหมาะสม ฉะนั้น การพัฒนาระบบน้ำยางสดให้มีคุณภาพ และที่สำคัญมีเสถียรภาพด้านราคาที่เป็นธรรม กยท. จึงได้จัดตั้งตลาดกลางน้ำยางสด ซึ่งเป็นตลาดกลางแห่งแรกของประเทศที่จะเชื่อมโยงตลาดเครือข่ายน้ำยางสดทั้งหมด สามารถกำหนดราคาอ้างอิงน้ำยางสดจากตลาด กยท. ได้ ซึ่งเกษตรกรสามารถขายน้ำยางสดได้ในราคาที่เป็นธรรม มีอำนาจต่อรองในการขาย ยกระดับราคาน้ำยางสดในพื้นที่ให้เกิดเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะซื้อผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานในปริมาณมาก เพราะตลาดกลางน้ำยางสดจะมีระบบควบคุมคุณภาพและรูปแบบการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ ด้านนายชัยพจน์ อรุณชัยวัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา จำกัด (1982) กล่าวว่า บริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา จำกัด (1982) ได้เข้าร่วมโครงการจัดตั้งตลาดน้ำยางสด โดยจะเป็นบริษัทผู้รับซื้อน้ำยางสด ที่ให้ราคารับซื้อสูงที่สุดในประเทศไทย วันนี้ เป็นวันแรกที่เปิดตลาดกลางน้ำยางสด ทางบริษัท จึงขอประกาศรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ราคากิโลกรัมละ 44.50 บาท/กก. สูงกว่าราคาตลาดท้องถิ่นทั่วไปที่ขายอยู่ที่ 40 บาท/กก. โดยวันนี้มารับซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางถึง กยท. จำนวนประมาณ 120กว่าตัน ซึ่งบริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา จะรับซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับราคาท้องถิ่นในแต่ละวัน นายศตวรรษ จันทร์ทอง ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท.สาขานาทวี กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ เช่น เกษตรกรทำสวนบ้านนาปรังพัฒนา เป็นอีมีผลผลิตน้ำยางสดประมาณวันละ 30,000 กก. โดยขายตรงผ่านบริษัทเอกชนเพื่อแปรรูปเป็นน้ำยางข้น ซึ่งน้ำยางทุกหยดจะรับซื้อจากสมาชิกเท่านั้น เพื่อให้การบริหารจัดการระบบขนส่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดตั้งตลาดกลางน้ำยางสดของ กยท. จะช่วยให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และเกษตรกรสมาชิกสามารถขายได้ราคาที่สูงขึ้น เกิดความเป็นธรรม ซึ่งเกษตรกรหรือกลุ่มต่างๆ ที่ขายให้พ่อค้าเอกชนรายย่อยขณะนี้ต่างกลุ่มต่างดำเนินการขายแยกกันไปทำให้เมื่อประสบปัญหาต่างๆ เช่น การตรวจสอบคุณภาพ การกดราคา ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งการตั้งตลาดกลาง กยท. ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างเสถียรภาพราคายางเท่านั้น แต่กลับเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางกลับมารวมตัวกันเป็นสหกรณ์ที่เข้มแข็งและสามารถร่วมกันขายน้ำยางสดผ่านตลาดกลาง กยท. ซึ่งเป็นระบบที่จะเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อผู้ขายต่อไปได้ "ที่ผ่านมา กยท.เปิดตลาดกลางสำหรับซื้อขายยางแผ่นรมควันได้สำเร็จแล้ว และหากสร้างกลไกของรัฐ ตั้งตลาดกลางน้ำยางสด จะยิ่งช่วยให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขายผลผลิตในรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะน้ำยางสด ซึ่งมีปริมาณที่มาก และคุณภาพที่ทำอยู่ก็ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ จะสามารถซื้อขายได้อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย" นายศตวรรษ กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ