สคร. 12 สงขลา เทิดทูนพระอัจฉริยภาพในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้านงานควบคุมโรคเท้าช้าง จ.นราธิวาส

ข่าวทั่วไป Wednesday October 25, 2017 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 6 ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลอง และพัฒนาการประกอบอาชีพของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ทำหน้าที่พัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวให้สามารถใช้ทำการเกษตรได้ รวมทั้งแสวงหาแนวทางในการพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ให้กับราษฎรได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้จนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส มีลักษณะพิเศษคือเป็นศูนย์การศึกษาพัฒนาฯเพียงแห่งเดียวที่มีสำนักงานโครงการควบคุมโรคติดต่อและการสาธารณสุข ภายใต้การดูแลของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์เสด็จพระราชดำเนิน แปรประทับพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทรงเยี่ยมราษฎรในหลายพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส ทรงทราบถึงปัญหาและความทุกข์ยากของราษฎรอันเนื่องมาจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าพรุ สภาพดินเป็นดินเปรี้ยวจัดไม่สามารถปลูกพืชได้ ซึ่งในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น นายแพทย์เอิบ ณ บางช้าง ได้กราบบังคมทูลเรื่องโรคเท้าช้างชุกชุมบริเวณรอบป่าพรุ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งโครงการดังกล่าว ซึ่งมีชื่อโครงการเดิมว่า "โครงการปราบปรามและควบคุมโรคฟิลาเรีย" แต่ด้วยพระอัจริยภาพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมองการณ์ไกล พระองค์ทรงวินิจฉัยว่าควรเป็น "โครงการปราบปรามควบคุมโรคติดต่อและการสาธารณสุข" เนื่องจากทรงเห็นว่าจะได้ดำเนินควบคุมโรคหนอนพยาธิ โรคเรื้อน และภาวะทุพโภชนาการซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขประจำถิ่นของ จังหวัดนราธิวาส ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชปณิธานที่จะต่อยอดการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาฯ รวมทั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านต่างๆ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนยิ่งขึ้นสืบไป ดร.นายแพทย์สุวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการกำจัดโรคเท้าช้าง ในจังหวัดนราธิวาสมีความซับซ้อนมากกว่าที่อื่น คือ เป็นโรคเรื้อรังที่สังคมรังเกียจ การเจาะโลหิตในคนต้องเจาะในเวลากลางคืนเพราะเป็นช่วงเวลาที่เชื้อปรากฏตัวในกระแสเลือด การมีแมวเป็นแหล่งรังโรคในสัตว์จึงจำเป็นต้องอาศัยชาวบ้านช่วยเจาะเลือดและจับแมวให้ เพื่อรักษา ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความยากลำบากและเสี่ยงสูง หากลำพังแต่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสคงดำเนินการไม่สำเร็จ แต่ด้วยพระบารมี ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้การทำงานของโครงการปราบปรามควบคุมโรคติดต่อและการสาธารณสุขในศูนย์พิกุลทองฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ของพระองค์ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและสามารถดำเนินการกำจัดโรคเท้าช้างในจังหวัดนราธิวาสสำเร็จได้ในที่สุดในปี พ.ศ.2560 แม้จะล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นประมาณ 10 ปี จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คนไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ