กระทรวงเกษตรฯ เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังสุขภาพสัตว์บก-สัตว์น้ำ ช่วงเข้าฤดูหนาว พร้อมแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์ หากพบสัตว์ป่วยควรแยกกักสัตว์และแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

ข่าวทั่วไป Friday November 3, 2017 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยในได้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากฤดูฝนย่างเข้าสู่ฤดูหนาว โดยจะมีฝนตกหนักสลับกับอากาศร้อนในตอนกลางวัน และบางแห่งเริ่มมีอากาศหนาวในช่วงเช้า ทำให้อุณหภูมิในรอบวันเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์ของเกษตรกรที่เลี้ยงไว้ได้ โดยอาจเกิดอาการเครียดและกินอาหารน้อยลง ความแข็งแรงและความทนทานต่อโรคลดต่ำลง ทำให้สัตว์อ่อนแอ และติดโรคได้ง่าย ทั้งนี้ โรคที่มักเกิดในช่วงปลายฝนต้นหนาวซึ่งมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ โรคอียูเอส และโรคดวงขาว หรือ ตัวแดงดวงขาว และโรคที่มักเกิดกับสัตว์บก ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ เป็นต้น นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคอียูเอส (Epizootic Ulcerative Syndrome; EUS) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ "โรคระบาดปลา" ซึ่งเกิดจากเชื้อราAphanomyces invadans จะทำให้ปลาที่ป่วยเป็นโรคนี้มีแผลลึกตามตัวและส่วนหัว โดยแผลจะมีลักษณะของเส้นใยเชื้อราฝังอยู่ สามารถพบได้ในปลาหลายชนิดทั้งที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติและที่เลี้ยงในบ่อดิน เช่น ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลากระสูบ ปลาหมอ เป็นต้น เชื้อโรคชนิดนี้เจริญได้ดีที่อุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส และสามารถระบาดจากฟาร์มหนึ่งไปยังอีกฟาร์มหนึ่งจากการใช้แหล่งน้ำร่วมกัน ดังนั้น เกษตรกรจึงควรป้องกันการเกิดโรคอียูเอสในปลา ดังนี้ 1. หากพบปลาป่วยเป็นโรคอียูเอสในแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรรีบตักปลาป่วยและปลาตายขึ้นไปฝังกลบหรือเผาทำลาย และงดการนำน้ำจากแหล่งนั้นมาเติมเข้าบ่อโดยทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่เข้าสู่บ่อ 2. ในระหว่างที่ไม่มีการเติมน้ำเข้าบ่อ จำเป็นต้องลดปริมาณอาหารที่ให้แก่ปลา เพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย 3. ควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อโดยใส่ปูนขาวในอัตรา 60-100 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับบ่อที่มีระดับน้ำลึก 1 เมตร และอาจจะต้องสาดปูนขาวซ้ำอีกในอัตราเดียวกันทุก ๆ 3-4สัปดาห์ 4. กรณีที่น้ำในบ่อเริ่มเน่าเสียโดยมีแก๊สผุดขึ้นมาจากพื้นบ่อ ให้สาดเกลือบริเวณที่มีแก๊สประมาณ 200-300 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับบ่อที่มีระดับน้ำลึก 1 เมตร 5. เมื่อพบว่าปลาในธรรมชาติหายป่วยแล้ว และอุณหภูมิของน้ำเข้าสู่สภาวะปกติหรือสิ้นสุดฤดูหนาวแล้ว จึงทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำ และเพิ่มปริมาณอาหารที่ให้แก่ปลาได้ตามปกติ 6. กรณีที่เกิดโรคขึ้นแล้วในบ่อเลี้ยง จะต้องรักษาสภาพแวดล้อมในบ่อไม่ให้แย่ไปกว่าเดิม และป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกสู่ภายนอกโดยไม่ถ่ายน้ำออกไปข้างนอก เก็บปลาที่ตายหรือป่วยใกล้ตายออก และทำลายทิ้งโดยการฝังหรือเผางดอาหารหรือลดปริมาณอาหารลง และสาดปูนขาวเพื่อควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อ นอกจากนี้ โรคดวงขาว (White spot disease; WSD) ซึ่งเกิดจากเชื้อ White spot syndrome virus (WSSV) ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่เกษตรกรควรเฝ้าระวัง โดยโรคนี้มักจะเกิดกับกุ้งทะเล เช่น กุ้งขาว และกุ้งกุลาดำ โดยกุ้งที่มีอาการป่วยจะกินอาหารลดลง เคลื่อนไหวเชื่องช้า ว่ายตามผิวน้ำ หรือเกาะขอบบ่อ และจะมีจุดขาวตามเปลือกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 - 2 มิลลิเมตร หรืออาจจะไม่พบจุดขาวก็ได้ ความรุนแรงของโรคดวงขาวจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่อุณหภูมิของน้ำต่ำ คือ ช่วงปลายปีจนถึงต้นปีและฤดูมรสุมที่มีฝนตกติดต่อกันนานๆ สำหรับวิธีป้องกันโรคดังกล่าว สามารถทำได้ ดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการเลี้ยงกุ้งในช่วงที่อุณหภูมิต่ำ หรือลดปริมาณการเลี้ยงในช่วงเวลาดังกล่าว 2. คัดเลือกลูกกุ้งที่แข็งแรงมีคุณภาพ ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าไม่ติดเชื้อ WSSV 3. ลดความหนาแน่นในการเลี้ยงลง 4. เพิ่มมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพภายในฟาร์ม เช่น มีการฆ่าเชื้อในน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งเพื่อกำจัดหรือทำลายเชื้อโรคหรือพาหะของโรค การทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับบุคคลที่เข้าออกฟาร์มและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในฟาร์ม และการล้อมตาข่ายเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์พาหะ เช่น กุ้ง ปู นกเข้ามาบริเวณบ่อเลี้ยงกุ้ง 5. จัดการคุณภาพน้ำให้เหมาะสม และมีการจัดการพื้นบ่อที่ดีเพื่อลดการสะสมของสารอินทรีย์ ด้านนายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ เป็ด ไก่ แพะ แกะ หรือ สุนัข แมว ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ทำให้สัตว์มีสุขภาพที่อ่อนแอลง ก่อให้เกิดโรคระบาดในสัตว์ได้ง่าย โดยเฉพาะโค-กระบือที่มักเกิดโรคทางเดินหายใจ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ ส่วนสัตว์ปีก อาทิ ไก่ เป็ด ก็มักจะเกิดโรคอหิวาต์ หรือนิวคลาสเซิล ซึ่งเป็นโรคระบาดที่มีความสำคัญมาก เพราะมีการระบาดติดต่อกันอย่างรวดเร็ว และทำให้ไก่ตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงขอแนะนำให้เกษตรกรป้องกันโรคระบาดสัตว์ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค การให้ยาและวิตามินเสริม การดูแลรักษาความสะอาดของโรงเรือนให้สะอาดและให้ความอบอุ่นเช่นฝากันลมหนาว หรือสุมไฟเพิ่มความอบอุ่น นอกจากนี้การป้องกันมิให้สัตว์อื่นเข้าในโรงเรือน การให้อาหารที่ดีและมีคุณภาพดีจะสามารถช่วยลดการเกิดโรคได้ ทั้งนี้ เกษตรกรควรหมั่นสังเกตและดูแลสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม หากพบว่าป่วยเป็นโรค ให้รีบแยกกักสัตว์ป่วย และแจ้งเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อเข้าควบคุมโรคและรักษาโรค และหากมีสัตว์เลี้ยงตายในฟาร์มให้เกษตรกรรีบนำสัตว์เลี้ยงไปทำลายด้วยการเผาหรือฝัง เพื่อป้องการระบาดของโรคไปสู่สัตว์อื่น เพราะหากเกิดโรคระบาดสัตว์จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ และก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจหากเกิดการระบาดจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ