ดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าดอกเบี้ยเฟด ไม่เป็นไรจริงหรือ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 6, 2017 16:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--ทีเอ็มบี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ยังคงมุมมองเดิมว่าธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายตลอดปีนี้ แต่จะเริ่มมีแรงกดดันให้ต้องปรับขึ้น จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯที่ลดลง ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward Rate) ที่ลดลง ในขณะที่ประเด็นเงินทุนไหลออกรุนแรงยังไม่น่ากังวล จากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแกร่งโดยเฉพาะภาคต่างประเทศ ตามการคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ จะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้ และอีก 3 ครั้งในปีหน้า ทำให้อัตราดอกเบี้ยเฟดขยับไปอยู่ที่ 2.0-2.25% ณ สิ้นปี 2018 ซึ่งหากดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ยังคงไว้ที่ 1.5% จะทำให้ดอกเบี้ยเฟดสูงกว่าดอกเบี้ยไทยถึง 0.75% เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเฟดที่สูงกว่าไทยนี้อาจมีผลทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออก อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าเงินทุนจะไม่ไหลออกรุนแรงเนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแกร่งโดยเฉพาะภาคต่างประเทศที่มองว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่องในปี 2018 โดยการส่งออกสุทธิคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 8.4 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัวได้กว่า 6.5% อย่างไรก็ตาม เงินทุนที่ไหลออกดังกล่าว แม้จะไม่รุนแรงแต่ก็อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้นด้วย นอกจากเงินทุนไหลออกแล้ว ดอกเบี้ยไทยที่เข้าใกล้หรือต่ำกว่าดอกเบี้ยเฟดยังสร้างแรงกดดันให้ swap point ติดลบมากขึ้นด้วย ซึ่ง swap point นี้เป็นตัวกำหนด อัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า หรือ forward rate ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่ผู้ส่งออกจะได้รับเมื่อทำสัญญา forward ขายเงินดอลลาร์ล่วงหน้าให้แก่ธนาคาร โดยอัตรา forward จะเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันหรือ spot บวกด้วย swap point ดังนั้น swap point ที่ติดลบจะทำให้อัตรา forward ต่ำกว่า spot หมายความว่า ผู้ส่งออกจะแลกเงินดอลลาร์เป็นเงินไทยน้อยลงจากการทำ forward โดย swap point ของไทยเริ่มติดลบมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ หลังจากที่เฟดค่อยๆ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา swap point ประเภท 6 เดือน ในตลาดในประเทศ อยู่ที่ประมาณ -3 ถึง -7 สตางค์ โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าหากธปท.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% จนถึงสิ้นปี 2018 ในขณะที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง จะทำให้ swap point ดังกล่าวติดลบถึง 18 สตางค์ หากพิจารณาช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ดอกเบี้ยนโยบายไทยก็เคยต่ำกว่าดอกเบี้ยเฟดในช่วงปี 2005-2006 ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อของทั้งสองประเทศอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางทั้งสองต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว โดยดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าดอกเบี้ยเฟดมากที่สุดที่ 0.75% ทำให้ swap point ลงไปต่ำสุดที่ -12 สตางค์ ในขณะที่ Bond yield 10 ปี แกว่งตัวในกรอบ 3.9-6.7% นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนก็เคลื่อนตัวในกรอบที่กว้าง ระหว่าง 35-42 บาทต่อดอลลาร์ สะท้อนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น หลังจากเป็นเวลาเกือบ 4 ปีที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวที่ 1.5% ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่ามีโอกาสที่จะเริ่มเห็นดอกเบี้ยกลับมาเป็นขาขึ้นในปีหน้า แต่จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ