SPU: กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์: บทสะท้อนมุมมองที่หายไปต่อกรณีเจ้าของสัตว์อำพราง ผศ.นพดล ปกรณ์นิมิตดี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ข่าวทั่วไป Wednesday October 25, 2017 17:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ :บทสะท้อนมุมมองที่หายไปต่อกรณีเจ้าของสัตว์อำพราง ผศ.นพดล ปกรณ์นิมิตดี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (บางคนเรียกสั้นๆว่า กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ )คือ เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง ดังนั้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับการคุ้มครองตามธรรมชาติของสัตว์อย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ใจความของเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ มี 2 ประเด็น ที่น่าสนใจ กล่าวคือ 1. "สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม.." ข้อนี้ ให้ความสำคัญต่อ สัตว์ โดยตรง สิ่งมีชีวิต ที่มีความรู้สึก (เหมือนมนุษย์กระมัง) บางคนถึงขั้นเรียกว่า เป็นสิทธิของสัตว์ เสมือนยกฐานะของสัตว์เทียบเท่ามนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ หรือบุคคลในทางกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สัตว์ น่าจะถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของบุคคลด้วยซ้ำ เพราะบทบัญญัติในเรื่อง การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ ได้กล่าว ถึงเรื่อง การได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของสัตว์ตามกฎหมาย ด้วยเหตุที่ กรรมสิทธิ์ มีได้กับสิ่งที่เป็นทรัพย์สิน 2. "เจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง…." ใจความข้อนี้ น่าจะพุ่งเป้า ไปที่ เจ้าของสัตว์ โดยตรง เจ้าของสัตว์ คือใคร "เจ้าของสัตว์" หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแล ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ดูแลด้วย นิยามคำว่า เจ้าของสัตว์นี้ ในความหมายของกฎหมาย ได้ปรากฏใน พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.๒๕๕๗ มาตรา ๓ ประเด็นที่น่าคิด ก็คือ กฎหมายบัญญัติว่า เจ้าของสัตว์ หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์สัตว์ กรรมสิทธิ์ เป็นทรัพยสิทธิ หรือสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน ฉะนั้น ใครที่บอกว่า สัตว์เขามีสิทธิตามกฎหมายนะ หรือพยายามไปตีความ โดยยกกฎหมายต่างประเทศ มาพูด อาจทำให้เกิดความสับสนได้ เพราะกฎหมายของแต่ละประเทศ มีระบบกฎหมายที่แตกต่างกัน และการบัญญัติหลักการ สิทธิ และเสรีภาพ ที่แตกต่างกัน แต่สำหรับประเทศไทยเรา สัตว์ (บทความในที่นี้ จะกล่าวถึงตัวอย่าง กรณี สุนัข กับแมว เท่านั้น) จึงควรเรียกว่า ทรัพย์สิน ของมนุษย์ หรือบุคคลตามกฎหมาย แต่การให้ความสำคัญกับสัตว์ ที่มีชีวิต ในฐานะเพื่อนร่วมโลก หรือในฐานะสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์ โดยการออกกฎหมายคุ้มครอง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ต้องการลงโทษมนุษย์ หรือบุคคลธรรมดาในทางกฎหมาย ที่มีจิตใจ ไม่ค่อยดี ไปทารุณกรรม รังแก หรือทำร้ายสัตว์ ฉะนั้น กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ จึงควรถือเป็นกฎหมายที่มุ่งยกระดับจิตใจของมนุษย์ ให้ดีขึ้น มากกว่า การยกฐานะของสัตว์ ให้ดีขึ้น เพียงเพื่อเทียบเท่าบุคคล ในทางกฎหมาย กลับมาสู่ประเด็นคำว่า "เจ้าของสัตว์" กฎหมายบัญญัติ ศัพท์นี้ไว้ชัดเจนแล้วว่า หมายถึง เจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์ ………. ปัญหาของสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุนัข และแมว จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นปัญหาคู่สังคมไทย สำหรับบางคน กับผู้คนที่มีบ้านเดียว หรือ ทาวเฮาส์ ที่ได้มาอาศัยร่วมกันเป็นจำนวนมาก ในหมู่บ้าน การปล่อยปละละเลยของ คนที่เป็นอดีตเจ้าของสัตว์ จนมีสุนัข จรจัด แมว จรจัด เต็มไปหมดในบางพื้นที่ จะทำอย่างไร การให้องค์กรภาคเอกชน หรือหน่วยงานรัฐ บางหน่วย มาจับ และนำไปเลี้ยง ก็ทำได้แค่บางส่วน และน้อยมาก การนำ สุนัข แมวไป ปล่อยที่วัด ก็กลายเป็นปัญหาของพระสงฆ์ เป็นปัญหาของวัด เคยถามหน่วยงานของรัฐ ในบางพื้นที่ ถามว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร กับสุนัขจรจัด ซึ่งถูกเรียกว่า สุนัขไม่มีเจ้าของ คำตอบที่ได้รับ คือ " จะจับ ไปทำหมัน และนำกลับไปปล่อยที่เดิม คะ" ถามต่อไป เทศบาล จับไป และนำไปเลี้ยงได้ไหม คำตอบ ก็คือ ไม่มีงบประมาณคะ สุนัข หรือ แมว ทีมีเจ้าของกรรมสิทธิ์ หากไปก่อเหตุ ทำร้ายบุคคล อื่น ผู้เสียหาย อาจแจ้งความร้องทุกข์เอาเรื่อง ทั้งทางแพ่งและอาญา กับเจ้าของสัตว์ได้ ขอยกตัวอย่าง มาตรา ๒๓ แห่ง พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.๒๕๕๗ บัญญัติว่า "ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร" หากสุนัข หรือหมา ที่มีปลอกคอ มีเจ้าของ ไปเที่ยว ไล่กัดคนได้ ก็แสดงว่า เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้งตามมาตรา ๒๓ ซึ่งต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท บางคน ที่เลี้ยงสุนัข หรือ แมว เกิดอยากหัวหมอ และไม่อยากรับผิดชอบใดๆ ในทางกฎหมาย เวลา หมา แมว ของตนไปก่อเรื่อง จึงใช้วิธีแบบง่ายๆ คือ ไม่ใส่ปลอกคอให้หมา แมว ตัวเอง กลางวัน ปล่อย หมา แมว ตัวเอง วิ่งเล่นออกนอกบ้าน ขี้ หรือขับถ่าย นอกบ้าน โดยไม่สนใจว่า มันจะไปขับถ่ายบ้านใคร พอตก กลางคืน ค่อยเปิดประตู รับแมว หมา เหล่านี้เข้าบ้าน พอเกิดปัญหา หมา แมว ที่คนเลี้ยง ซ่อนรูปเป็นเจ้าของอำพราง สร้างปัญหา ความเดือดร้อน กัดทำร้ายแก่บุคคลอื่น ทำให้รถยนต์ผู้อื่นเป็นรอย ฯลฯ ก็อ้างทันทีว่า ตนเป็นเพียงผู้ให้อาหาร อ้างตนเป็นคนดี โดยมนุษยธรรมบ้าง ไม่ใช่เจ้าของ ไม่ต้องรับผิด จะมาเอาผิดฉัน เพราะฉันเพียงแค่ให้อาหารได้อย่างไร เช่นนี้แล้วกฎหมายฉบับนี้ จะสามารถมีส่วนไปช่วยแก้ไขปัญหาอะไร ให้กับผู้ที่เดือดร้อน จากสุนัขที่มีเจ้าของแบบอำพราง ที่ไปเที่ยวกัดลูกหลานชาวบ้านหรือ กัดคนแก่ ได้หรือ ไม่ได้ ละ หากอ้างตามหลักกฎหมาย คนเหล่านี้ ก็พร้อมจะบอกว่า เขาไม่ใช่ เจ้าของสัตว์ ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์สัตว์ ไม่ได้ครอบครองด้วย ทั้งๆที่ โดยพฤตินัย คนเหล่านี้ คือ เจ้าของสัตว์อำพราง แต่มีบางคน ไปยกฐานะเขาว่า เป็นผู้ให้อาหารสัตว์ แล้วย้อนถามสื่อกลับว่า จะเอาผิดเขาฐานะให้อาหารสัตว์ มันเกินไปหรือไม่ คำตอบ มันก็เกินไป จริงๆ หากบุคคลนั้น ไม่ใช่เจ้าของสัตว์ แบบอำพราง เป็นเพียงผู้ผ่านมาพบ และสงสัยสัตว์ เช่น หมา แมว อยากให้ทาน อยากให้อาหารสัตว์ เหล่านี้ มันก็ไม่สมควร ออกกฎหมายไปเอาผิดเขา หรอกครับ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.๒๕๕๗ จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ขาดมุมมองการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีต่อเจ้าของสัตว์ อำพราง หรือเจ้าของสัตว์ที่ทอดทิ้งสัตว์ และ การจัดระเบียบ ขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงสัตว์ ที่ชัดเจน และเข้มงวด ทำให้การพิสูจน์ทราบ เจ้าของสัตว์ ที่แท้จริง ที่ปล่อยทิ้ง สัตว์ เช่น หมา แมว กระทำได้ยาก อีกทั้ง การฝังไมโครชิฟ ในสัตว์ก็มีค่าใช้จ่าย กฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่ดี และเป็นหนึ่งในกฎหมาย ไม่กี่ฉบับ ที่ออกมาเพื่อสัตว์ และสมควรแก่เวลาแล้ว ที่ควรจะมีกฎหมายแบบนี้ สำหรับสังคมไทย แต่อย่างไรก็ตาม ก็อาจไม่สามารถแก้ไข ปัญหา คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ หรือมีเจ้าของสัตว์แบบอำพราง ได้อย่างเต็มที่ และกฎหมายฉบับนี้ ก็อาจไม่สามารถจัดสวัสดิภาพให้แก่สัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ได้อีกเช่นกัน ด้วยเพราะมีแต่บทบัญญัติ กำหนดให้เจ้าของสัตว์ มีหน้าที่จัดสวัสดิภาพแก่สัตว์ แล้วสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ใครจะจัดสวัสดิภาพให้ ละครับ ฉะนั้น ปัญหาของสัตว์ ที่ไม่มีเจ้าของ ปัญหาของเจ้าของสัตว์ที่ทอดทิ้ง ไม่ดูแลสัตว์เลี้ยงของตน และปัญหา ของคนที่หลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยการขอเป็นเจ้าของสัตว์แบบอำพราง ตนเอง ในคราบนักบุญ ขอเป็นแค่ผู้ให้อาหารสัตว์ คือ มุมมอง ที่ถูกมองไม่เห็นหรือ อาจเผลอลืมไปแล้วจริงๆ สำหรับกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ หรือไม่ คงแล้วแต่ดุลพินิจ และมุมมองของผู้อ่าน แต่ละคนแล้วกระมังครับ http://www.spu.ac.th/award/14587/academic

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ