เซ็นทรัลพลาซา อุบลราชธานี สืบสานคีตศิลป์ถิ่นอีสาน จัดงาน “โปงลางเฟสติวัล 2560” ครั้งที่3

ข่าวท่องเที่ยว Thursday November 9, 2017 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--เซ็นทรัลพัฒนา บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุบลราชธานี ร่วมกับ จังหวัดอุบลราชธานี, เทศบาลนครอุบลราชธานี, เทศบาลเมืองแจระแม, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี จัดโครงการประกวดวงดนตรีพื้นบ้าน "โปงลางเฟสติวัล 2560" ครั้งที่ 3 สุดสะแนนแดนอีสาน ระดับมัธยมศึกษาชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า 250,000 บาท พร้อมกิจกรรมประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่ง "ลูกทุ่งซิงกิ้งคอนเทสต์" เฟ้นหาดาวรุ่ง ลูกทุ่งเสียงใส ชิงทุนการศึกษามูลค่ากว่า 50,000 บาท เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมให้เยาวชนเกิดความรัก ความหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมการแสดงดนตรีของภาคอีสาน นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เผยถึงที่มาของงานนี้ว่า "ดนตรีอีสานมีความหลากหลายและงดงามเฉพาะตัว โปงลางเป็นอีกหนึ่งคีตศิลป์ เอกลักษณ์ของเครื่องดนตรีที่มีถิ่นกำเนิดจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ควรค่าแก่การสืบสานให้คงอยู่ เป็นความภาคภูมิใจของคนกาฬสินธุ์และชาวอีสาน เซ็นทรัลพัฒนา เราเห็นถึงความสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงเป็นที่รู้จักในสายตานักท่องเที่ยวและคนไทยจากภาคอื่นๆ เราจึงได้สานต่อจั งาน "โปงลางเฟสติวัล 2560" ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่3 สมกับการเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตของคนทุกเพศวัยในจังหวัดและภูมิภาคของศูนย์การค้าเซ็นทรัล" ในอดีต โปงลาง เรียกว่า เกราะลอ ทำจากไม้หมากเลื่อม (ไม้เนื้ออ่อน สีขาว มีเสียงก้อง) ใช้ตีเพื่อเรียกประชุมและไล่ฝูงนกกาในไร่นา จนกลายเป็น เครื่องดนตรีเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจเวลาทำนาของชาวอีสาน มีประวัติการคิดค้นจากท้าวพรหมโคตรซึ่งเคยอยู่ในประเทศลาวจากนั้นย้ายมาอยู่ที่บ้านกลางเหมือน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปัจจุบัน ต่อมาจึงได้ถ่ายทอดการตีเกราะลอและพัฒนาต่อมาเรื่อยๆให้แก่คนในท้องถิ่นสืบต่อมา จนมีการใช้ไม้มะหาด ซึ่งไม่บวมง่าย และได้เพิ่มลูกเกราะลอจาก 6 เป็น 9,12,13 ลูก ตามลำดับ จนมีเสียงดนตรีครบ 7 เสียงและมีเสียงต่ำสูงครบแบบดนตรีสากลพร้อมกับคิดบรรเลงลายใหม่เพิ่มขึ้นคือลายอ่านหนังสือใหญ่ ลายอ่านหนังสือ-น้อยลายสุดสะแนน ความคลาสสิกของการเรียนการตีเกราะลอในสมัยก่อน ต้องอาศัยความจำเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า การตีเกราะลอนี้จะตีนอกหมู่บ้านเท่านั้น เพราะถ้าตีในหมู่บ้านจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดี เช่น ฝนจะไม่ตกตามฤดูกาล เป็นต้น ร่วมสืบสานคีตศิลป์ถิ่นอีสาน ใน การแข่งขันโปงลางเฟสติวัล 2560 และการประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่งได้ระหว่างวันที่ 15-19 พฤศจิกายน 2560 เวลา 16.00-21.00 น. บริเวณ ลานร้อยพันธุ์บัว ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุบลราชธานี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ