การคุ้มครองผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา...มาตรการลบเลือนรอยแผลที่ไม่มีอายุความ...

ข่าวทั่วไป Friday November 17, 2017 18:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--เอบีเอ็ม ปัจจุบันประชากรไทยที่มีอยู่ราว 68 ล้านคน เป็นผู้หญิงประมาณ 33 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนั้นพบว่า มีผู้หญิงมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในมิติต่างๆ ดังนั้น การสร้างความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันในสังคม (Equal justice for all) จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของวงการยุติธรรมไทย ที่มุ่งสร้างความยั่งยืนให้สอดคล้องกับสากลในด้านหลักนิติธรรม โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบางอย่างผู้หญิงและเด็ก ที่มีสถิติเกี่ยวข้องกับคดีอาญาด้านการถูกกระทำรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี สถิติจำนวนผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงเฉพาะที่เข้ารับการบริการของศูนย์พึ่งได้ในปี 2558 มีจำนวนมากกว่า13,000 คน โดยมีรูปแบบที่ถูกกระทำสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ความรุนแรงที่ได้รับจากคู่สมรสประมาณ 59% รองลงมาคือ ความรุนแรงแบบผสมผสานหลายรูปแบบ 15% และอันดับสามเกิดจากความรุนแรงทางเพศเพียงสาเหตุเดียว 12% และยังอาจมีผู้หญิงอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาแต่ไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะมองว่าเป็นเรื่องต้องปกปิด ไม่กล้าบอกใคร จนทำให้กลายเป็นปัญหาที่ถูกซุกอยู่ใต้พรมและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงได้ร่วมกับ องค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสริมพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมความคิดเห็น เพื่อสร้างแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมและสอดประสานกัน ในวิธีการการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้หญิงที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยมีแนวทางปฏิบัติที่คำนึงถึงสภาพจิตใจของผู้ตกเป็นเหยื่อ ทำให้ผู้หญิงไม่ต้องกลายเป็นเหยื่อซ้ำสองเมื่อต้องเข้าสู่การดำเนินคดีเพื่อปกป้องสิทธิ์และศักดิ์ศรีของตน สำหรับผู้เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนระดับสูงจากสำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานอัยการ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทางอาญากว่า 80 คน ""ปัญหาของผู้หญิงที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกกระทำรุนแรง อาจจะถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งต้องการพยานหลักฐานที่ชัดเจนโดยไม่มีประเด็นโต้แย้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจำเลยได้ทำความผิดจริง ซึ่งมีเพียงผู้เสียหายเท่านั้นที่เป็นพยานคนสำคัญ จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้หญิงเหล่านั้นจะต้องให้ข้อมูลของเรื่องราวที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เริ่มตั้งแต่การสอบถามข้อเท็จจริงเบื้องต้น การสอบปากคำของพนักงานสอบสวน จนถึงการสอบถามเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในชั้นศาล ดังนั้น ไม่ว่าโดยจงใจหรือไม่จงใจก็ตาม ผลกระทบของคำถามยังคงบาดลึกและเป็นแผลเป็นฝังอยู่ในจิตใจของผู้เสียหายตลอดไป"" นายสาโรช นักเบศร์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 6 ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว เผยถึงประเด็นความสำคัญของการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การคุ้มครองผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา" กว่า 10 ปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนของสังคมไทยมีการพยายามแก้ไขปัญหาการกระทำรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เห็นได้จากการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการสืบพยานคดีอาญาโดยไม่ให้พยานเผชิญหน้าโดยตรงกับจำเลย พ.ศ. 2556 รวมถึงบทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะองค์กรที่อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนงานการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา กล่าวย้ำว่า ""ประเด็นผู้หญิงกับกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นประเด็นที่สำคัญ และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยได้ TIJ จึงได้ส่งเสริมให้มีกระบวนการทางกฎหมายที่คำนึงถึงความเปราะบางของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นผู้เสียหายจากความรุนแรง โดยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติในการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ในด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตลอดจนอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (The Convention on the Elimination of Discrimination against Women: CEDAW) รวมถึงการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้กระทำผิดหญิง ด้วยการปรับใช้มาตรฐานสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ""ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขัง"" หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ ""ข้อกำหนดกรุงเทพ"" (Bangkok Rules) ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาบทบาทของผู้หญิงที่ปฏิบัติงานอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ในมิติของการคุ้มครอง ช่วยเหลือ ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้เสียหาย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และเป้าหมายที่ 16 ในการเข้าถึงความยุติธรรม การใช้หลักนิติธรรม ตลอดจนสร้างเสริมสังคมให้มีความสงบสุข"" ""TIJ ได้มีงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เกี่ยวกับการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง โดยได้ทำการศึกษาจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้โครงการวิจัยหัวข้อ ""Women's Access to Justice: Perspectives from the ASEAN region"" งานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงอาจเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนในการรายงานเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ไปจนถึงชั้นสืบสวนสอบสวนและพิจารณาคดี โดยอุปสรรคต่างๆ นั้นมีที่มาจากหลายปัจจัย ซึ่งล้วนเชื่อมโยงกับมุมมองทางสังคม ความเชื่อ วัฒนธรรมตลอดจนปัจจัยทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงด้วยการบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล หรือการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ให้ตระหนักถึง มาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้เสียหายและพยานในความผิดเกี่ยวกับความรุนแรงที่ผู้หญิงตกเป็นผู้เสียหาย จะสามารถนำไปสู่แนวทางการพัฒนาระบบงานยุติธรรม โดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของผู้หญิงร่วมด้วย"" เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย นางสาวแอนนา คาริน ยัทฟอร์ส ผู้แทนองค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) กล่าวเสริมว่า ""ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงที่เป็นผู้เสียหายจากการถูกกระทำรุนแรงล้มเลิกความพยายามที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเอง เริ่มตั้งแต่ในขั้นตอนแรกๆ ของการแจ้งเรื่องต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในเรื่องความรู้และการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของตนเอง ขณะที่จำนวนเครือข่ายที่จะสามารถให้คำแนะนำหรือประสานงานช่วยเหลือผู้เสียหายมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมก็มักพยายามไกล่เกลี่ยกรณีความรุนแรง ไม่ส่งเรื่องต่อไปยังส่วนงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ปัญหาเหล่านี้จึงไม่ได้รับการแก้ไขตรงจุด และกลายเป็นปัญหาสะสมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกกับผู้เสียหายรายเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องได้รับการอบรมให้เข้าใจถึงประเด็นความละเอียดอ่อน เพื่อให้สามารถจัดการกับคดีความรุนแรงได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้หญิงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการคุ้มครองที่จำเป็นตามสิทธิ์ที่พวกเธอควรจะได้รับ"" นางสาวแอนนา กล่าวเสริม ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริหารสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นทางกฎหมายและแนวปฏิบัติว่า ประเทศไทยมีบทบัญญัติในการคุ้มครองผู้หญิง ทั้งที่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายและในฐานะพยานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม โดยในชั้นสอบสวนก็มีการกำหนดแนวทางคุ้มครองผู้หญิงในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศไว้ ซึ่งให้พนักงานสอบสวนหญิงเป็นผู้สอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ ก็ให้อัยการหญิงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการเข้าร่วมให้ปากคำหรือซักค้านผู้เสียหายหรือพยานผู้หญิง และชั้นพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น ได้เปิดโอกาสให้สามารถใช้วิธีการทางเลือก โดยการสืบพยานแบบไม่ต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับจำเลยได้ อยากไรก็ตาม ในทางปฏิบัติยังคงมีแนวทางที่เลื่อมล้ำกันอยู่ และในข้อกฎหมายก็ยังมีช่องว่างที่ควรมีการพิจารณาปรับแก้ไข เพื่อคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย รวมทั้งป้องกันการเกิดคดีซ้ำในจำเลยคนเดียวกันอีกในภายหลัง ""การคุ้มครองผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาควรมีการพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การกำหนดอายุความใหม่เพื่อคุ้มครองเด็กผู้หญิงผู้เสียหายจากเดิมที่กำหนดไว้ 90 วันนับจากเกิดเหตุ เป็นเริ่มนับอายุความตั้งแต่ผู้เสียหายบรรลุนิติภาวะ 2. พิจารณาความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นคดีอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่คดีอาญาส่วนตัว เพราะหากผู้เสียหายไม่กล้าไปแจ้งความ เจ้าพนักงานหรือผู้ประสบเหตุก็สามารถดำเนินการแทนได้ 3. มีการการบันทึกฐานข้อมูล DNA ของผู้กระทำความผิดร้ายแรง โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับเพศ และความรุนแรง เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบคดีที่เกิดขึ้นในภายหลัง 4. มีการคุมประพฤติภายหลังพ้นโทษในความผิดร้ายแรง เช่น ความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย เพศ เสรีภาพ เป็นต้น"" รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง กล่าว การระดมความคิดเห็นครั้งสำคัญจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนเครือข่ายเพื่อยกระดับกระบวนการยุติธรรม ยุติการสร้างบาดแผลซ้ำ และปกป้องสิทธิของผู้เสียหาย ซึ่งจะพัฒนาไปสู่ความยุติธรรมที่ยั่งยืนได้ในภายหน้า แต่ในที่สุดแล้วหากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยกันเสริมสร้างพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ และแก้ไขปัญหาระหว่างกันโดยไม่ใช้ความรุนแรงแล้ว ก็จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ช่วยสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มคนที่เปราะบางอย่างเด็กและผู้หญิงในสังคมไทย ต้องตกเป็นเหยื่อของการถูกกระทำรุนแรงอย่างไม่รู้จบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ