คลังสั่งเดินเครื่อง 'หนี้นอกระบบเป็นศูนย์' ธ.ก.ส. ชู 'สงขลาโมเดล' นำร่องเกษตรกรพ้นวงจรหนี้ถาวร

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 28, 2017 09:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. รับลูกนโยบายรัฐบาลเดินหน้า 'แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นศูนย์' ชู 'สงขลาโมเดล' บูรณาการแก้ไขปัญหาครบวงจร ทั้งการให้สินเชื่อ ฝึกอบรมวินัยการเงิน และสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ช่วยให้เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยหลุดพ้นวงจรหนี้นอกระบบอย่างถาวร เผยผลงานแก้หนี้นอกระบบไปแล้วกว่า 5.1 แสนราย วงเงิน 4.3 หมื่นล้านบาท วันนี้ (27 พ.ย.)ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมบุรีศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นางลัดดาวัลย์ สินธุรักษ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. และนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เข้าร่วม "โครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดสงขลา" นายอภิศักดิ์ ประธานในพิธีได้กล่าวมอบนโยบายเรื่อง "แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อย" จากนั้นได้มอบใบอนุญาตประกอบกิจการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดสงขลาและใกล้เคียง และมอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยจำนวน 300 ราย โดยมีผู้บริหารของกระทรวงการคลัง ผู้บริหาร ธ.ก.ส. และผู้บริหารธนาคารออมสินร่วมเป็นสักขีพยาน นายอภิรมย์ กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้ให้ความสำคัญการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ นโยบาย "การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์" เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งจากข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 พบว่ามีเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนจำนวน 3,322,214 ราย และมีหนี้นอกระบบสูงถึง 460,487 ราย มูลหนี้เฉลี่ยรายละ 59,695 บาท โดย ธ.ก.ส. ได้เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น ผ่านการให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขความเดือดร้อนของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน มุ่งเน้นให้มีการแก้ไขปัญหาผ่านองค์กรการเงินชุมชนที่มีศักยภาพ ทั้งกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชน รวมไปถึงการนำเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเพิ่มศักยภาพการหารายได้ ให้เกิดความเข้มแข็งมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบและดำรงชีพได้อย่างปกติสุข ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินงานแก้ไขหนี้นอกระบบมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน สามารถจ่ายสินเชื่อไปแล้วทั้งสิ้น 516,526 ราย วงเงิน 43,439.90 ล้านบาท โดยล่าสุดได้บูรณาการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบผ่าน 3 โครงการประกอบไปด้วย 1. โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือนของเกษตรกรที่มีภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและฉุกเฉิน 2. โครงการที่ปรึกษาทางการเงินภาคครัวเรือน โดยกำหนดมาตรการสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพผู้นำกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 2,000 คน และผู้นำชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 2,160 คน รวมทั้งสิ้น 4,160 คน ให้เป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเงินในชุมชน เพื่อเป็นที่ปรึกษาทางการเงินภาคครัวเรือน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางการเงินหรือแก้ปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกร 3. โครงการสินเชื่ออาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้แก่เกษตรกรที่ไดรับการป้องกันและแก้ไขหนี้นอกระบบ มาเป็นหนี้ในระบบธนาคาร แล้วสามารถประกอบอาชีพเสริมนอกเหนือจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบเดิม ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอแก่การชำระหนี้และการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน "เกษตรกรลูกค้า 3 ราย ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนแปรรูปหมอนยางพารา วิสาหกิจชุมชนใต้สยามไฮโดรโปนิกส์ และกลุ่มเกษตรกรกลุ่มต้นกล้า ที่จังหวัดสงขลานำมาเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ถือเป็นเอสเอ็มอีเกษตร ระดับหัวขบวน มีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับสินค้าเกษตร ช่วยสร้างงานให้เกษตรกรในท้องถิ่น สร้างอาชีพให้คนในชุมชนมีรายได้เสริม สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ซึ่ง ธ.ก.ส. จะนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ เป็นการบูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ไม่ใช่เพียงการนำเงินไปใช้หนี้ให้เกษตรกรเท่านั้น แต่ ธ.ก.ส. ได้จัดทำกระบวนการที่ยั่งยืนด้วยการนำเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและมีหนี้นอกระบบเข้าโครงการฝึกอบรมวินัยทางด้านการเงินจากผู้เชี่ยวชาญในชุมชน และสนับสนุนสินเชื่ออาชีพเสริมเพิ่มรายได้ นอกจากการทำอาชีพเกษตรเพียงอย่างเดียว เพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบอย่างถาวร และดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข" นายอภิรมย์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ