สนช. – มก. ร่วมมือสามพิมนักสร้างผลิตภัณฑ์สีเขียว 100% จากน้ำยางพารา

ข่าวทั่วไป Thursday November 30, 2017 13:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และบริษัท สามพิม จำกัด จัดแถลงข่าวลงนามลงนามบันทึกข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยอนุสิทธิบัตร เลขที่ 10454 ลงนามสัญญารับทุนสนับสนุนการวิจัย และโครงการนวัตกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม "กาวน้ำยางแข็งตัวและไฟลามช้าสำหรับแผ่นบอร์ดจากเศษผ้า" โดยเป็นสารยึดติดที่มาจากกาวน้ำยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทดแทนกาวสังเคราะห์ ทำให้ผลิต garmento แผ่นบอร์ดจากเศษผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครอบคลุมทุกส่วนของผลิตภัณฑ์ ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า "บทบาทของ สนช. เป็นองค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มคุณค่าที่ยั่งยืน ดังนั้นการสร้างโอกาสการเข้าถึงการใช้ประโยนช์จากผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีคุณค่าและมีศักยภาพในการร่วมรังสรรค์ต่อยอดองค์ความรู้และแนวความคิดให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่สามารถออกสู่ตลาดได้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และใช้ประโยชน์ได้จริง ดังอย่างของความสำเร็จในโครงการนี้ ที่มีการสร้างนวัตกรรมที่เกิดจากการต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนา มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการพัฒนาร่วมกันในการพัฒนาต่อยอดให้เกิดการผลิตได้จริงเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ สนช. ร่วมสนับสนุนทุนการพัฒนานวัตกรรมให้กับบริษัท สามพิม จำกัด ในการเป็นตัวเร่งที่สำคัญให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล นอกจากนี้ โครงการนี้ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมการเกษตรจากยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญที่เปรียบเหมือนน้ำมันสีขาวของประเทศไทย ที่จะก่อให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมด้านยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวโน้มการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้นจากทั่วมุมโลก นายยุทธนา อโนทัยสินทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามพิม จำกัด กล่าวว่า "จากแรงบันดาลใจที่ต้องการนำวัสดุเหลือทิ้งจำนวนมากมายให้เกิดประโยชน์สุงสุด ผลิตภัณฑ์ Garmento Board จึงได้เกิดขึ้นมา โดยเป็นแผ่นบอร์ดจากเศษผ้าเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งทอที่นำมาเข้ากระบวนการขึ้นรูปอัดแข็งด้วยใช้กาวสังเคราะห์เป็นตัวเชื่มอประสาน นำมาใช้เป็นวัสดุทางเลือกใหม่เพื่อใช้ทดแทนแผ่นไม้ชนิดอื่นที่มีอยู่ในท้องตลาด อาทิ แผ่นไม้พาร์ติเคิลบอร์ด แผ่นใยไม้อัด ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากตลาดเฟอร์นิเจอร์ในกลุ่มพวกงานออกแบบเฉพาะเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่ากาวยึดติดที่เลือกใช้จะปลอดภัยกับผู้บริโภค เนื่องจากปลอดสารยูเรียฟอร์มัลดีไฮด์ แต่ก็ยังเป็นสารสังเคราะห์ ดังนั้นทางบริษัทฯ จึงได้มีแนวคิดร่วมกันในการผลิตแผ่นบอร์ดจากเศษผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครอบคลุมทุกส่วนของผลิตภัณฑ์ จึงสนใจนำสารยึดติดที่มาจากกาวน้ำยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทดแทนกาวสังเคราะห์ จึงได้ตกลงรับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว และร่วมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Garmento Board ให้มีสมบัติความแข็งแรงและการใช้งานเท่าเดิม แต่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยในขณะนี้ได้วางแผนการผลิตแผ่นบอร์ดจากเศษผ้าในระดับโรงงานอุตสาหกรรม ขนาดกำลังการผลิต 5,000 แผ่น/เดือน และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ" ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า "มก. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีวิสัยทัศน์ว่า "สร้างสรรค์ศาสตร์แห่งแผ่นดิน สู่สากลเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน" โดยการผลิตบุคลากรและผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะอย่างด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศในปัจจุบันและอนาคต ในการสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยผลงานวิจัยของ ดร. วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับอนุสิทธิบัตร เลขที่ 10454 กาวน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำยางธรรมชาติ ฟีนอลิกเรซิน กัมโรซิน และกรรมวิธีการผลิต โดยการนำน้ำยางธรรมชาติผสมกับสารยึดติดในกลุ่มฟีนอลิกเรซินและกัมโรซิน ร่วมกับการใช้สารช่วยการยึดติดเพื่อให้กลุ่มสารอินทรีย์กับตัวทำละลายที่เป็นน้ำเข้ากันได้ดี ด้วยการปรับสูตรน้ำยางข้นเพื่อใช้ทาบนวัสดุทำให้แข็งตัวได้และมีการเติมสารหน่วงไฟในกาวน้ำยางทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กาวประเภทนี้สามารถเกิดไฟลามที่ช้า เพื่อประยุกต์ใช้ในการติดวัสดุให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างสามมิติ และวัสดุที่ได้มีความแข็งแรง มีสมบัติเทียบเท่ากับกาวสังเคราะห์ได้ นับได้ว่าเป็นการสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ยางเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางมากขึ้น รวมทั้งเกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราของไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ