ก.ล.ต. เผยผลวิจัยในงาน SEC Working Papers Forum 2017 พบตลาด DW เติบโตเร็ว หวังพัฒนาด้านกำกับให้กลไกซื้อขายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 6, 2017 13:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--ก.ล.ต. ก.ล.ต. เผยผลงานวิจัยเกี่ยวกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant: DW) ในงาน"SEC Working Papers Forum 2017" พบ DW ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุน โดยมีมูลค่าการซื้อขายเติบโตขึ้น มีผู้ออกและเสนอขาย DW เพิ่มสูงขึ้นทุกปี แม้ว่าความสามารถในการคาดการณ์ความผันผวนของราคาหลักทรัพย์อ้างอิงยังไม่ดีนัก แต่พบการแข่งขันสูงเมื่อเทียบกับในอดีต พร้อมย้ำผู้ลงทุนศึกษาและเข้าใจความซับซ้อนของ DW วันนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยผลงานวิจัยในงาน"SEC Working Papers Forum 2017" เรื่องพัฒนาการของตลาดใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือ DW พบว่าหลายปีที่ผ่านมา DW ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนอย่างมาก จำนวนผู้ออกและจำนวน DW ที่เสนอขายเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2560 มีผู้ออกและเสนอขาย DW จำนวน 665 รุ่น เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาสเดียวกันในปี 2559 ที่ออกและเสนอขาย DW จำนวน 453 รุ่น เพิ่มขึ้นคิดเป็น 1.46 เท่า ประกอบกับปริมาณการซื้อขายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปีที่ผ่านมามีปริมาณการซื้อขายคิดเป็น 5% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายของผู้ลงทุนบุคคล สำหรับพัฒนาการของตลาดอนุพันธ์ในตลาดทุนอื่นพบว่า สินค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ลงทุนบุคคลเช่นเดียวกัน มีมูลค่าการซื้อขายจากผู้ลงทุนบุคคลที่สูงและมีสินค้าใหม่ ๆ ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองโจทย์การซื้อขายเพื่อเก็งกำไรจากอัตราทดสำหรับผู้ลงทุนบุคคลอย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาเกี่ยวกับการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ทั้งในตลาดทุนไทยและตลาดทุนต่างประเทศ ในการศึกษาบางชิ้นพบว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้ลงทุนมักจะขาดทุนจากการลงทุนในสินค้าประเภทนี้ และกำไรส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ดูแลสภาพคล่องและผู้ลงทุนไม่กี่ราย และจากผลการศึกษาพบว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในตลาด เช่น การให้ความรู้ผู้ลงทุน การเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งรวมไปถึงรูปแบบการเปิดเผยข้อมูลในลักษณะการเปรียบเทียบเพื่อช่วยในการตัดสินใจและตรงกับพฤติกรรมของผู้ลงทุน โดยพยายามสื่อสารให้ผู้ลงทุนเข้าใจถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับการซื้อขาย DW มากขึ้น สำหรับผลการศึกษาของ ก.ล.ต. พบว่า (1) ราคาซื้อขายของ DW แสดงถึงการคาดการณ์ความผันผวนในอนาคตของราคาหลักทรัพย์อ้างอิงสูงเกินไป ส่งผลให้ราคาของ DW ซื้อขายค่อนข้างสูงกว่าราคาทางทฤษฎี โดยหากเปรียบเทียบกับ TFEX Option ซึ่งเป็นตราสารอนุพันธ์ที่มีลักษณะคล้ายกันพบว่า ผู้ลงทุนใน TFEX Option สามารถคาดการณ์ความผันผวนในอนาคตของราคาหลักทรัพย์อ้างอิงได้ค่อนข้างแม่นยำกว่า และพบว่า TFEX Option มีราคาที่ถูกกว่า DW ที่มีลักษณะเหมือนกัน โดยส่วนหนึ่งของราคาที่สูงกว่าของ DW นั้นอาจเกิดจากสภาพคล่องที่สูงกว่า TFEX Option และจากความหลากหลายที่มากกว่า TFEX Option (2) ราคาซื้อขาย DW มีพัฒนาการที่ดีขึ้น กล่าวคือ มีราคาที่ลดลงใกล้เคียงราคาทฤษฎีและเข้าใกล้ TFEX Option มากขึ้น ราคาที่ลดลงนี้ ส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากกรณีที่ผู้ออก DW ทำตารางราคาเพื่อช่วยลดความซับซ้อนของการคิดราคา DW และช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถทำการซื้อขายได้ง่ายขึ้น แต่ทำให้ DW ช่วยคาดการณ์ความผันผวนของราคาหลักทรัพย์อ้างอิงได้ไม่ดีนัก เนื่องจากตลาด DW มีแนวโน้มการเติบโตที่รวดเร็ว จึงเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลและภาคส่วนในตลาดทุนต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมของ DW เพื่อร่วมกันปรับปรุงให้กลไกการทำงานของตลาด DW มีคุณภาพมากขึ้น ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ทบทวนและศึกษาสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น ลักษณะการเปิดเผยข้อมูลของผู้ออก DW การทำหน้าที่ของผู้ดูแลสภาพคล่อง และความเข้าใจของผู้ลงทุน ซึ่งจากผลการวิจัยนี้ ก.ล.ต. ได้นำไปต่อยอดเพื่อพัฒนากฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล DW อาทิ การเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่ผู้ลงทุน ทั้งในด้านการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอและการให้ความรู้ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อผู้ลงทุนมีสินค้าให้เลือกหลากหลายประเภทและลงทุนอย่างเข้าใจ งาน "SEC Working Papers Forum 2017" นี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. กับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 4 แห่ง และสถาบัน CFA ร่วมกันจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ เกี่ยวกับผลงานวิจัยด้านตลาดทุนจากนักศึกษา คณาจารย์ และบุคคลทั่วไป นำเสนอผลงานวิจัยยอดเยี่ยม 3 สาขา ที่ได้คัดเลือกจากผู้ส่งผลงานเข้าประกวดได้แก่ การเงินบริษัท (corporate finance) การจัดการลงทุน (asset management) และโครงสร้างตลาดและตัวกลาง (market structure and intermediation) พร้อมมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดผลงานวิจัยยอดเยี่ยม โดยผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัลจาก ก.ล.ต. และรับเงินสนับสนุนงานวิจัยจากสถาบัน CFA และเลือกผลงานวิจัย 1 ชิ้นจากทั้ง 3สาขาให้เป็น "Paper of the Year" ประจำปี 2017 ซึ่งเจ้าของผลงานจะได้รับเงินรางวัลเพิ่มเติมจาก ก.ล.ต. นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษจากผู้แทนสถาบัน CFA รวมถึงเวทีเสวนาในหัวข้อ Bridging the Gap between Capital Market Research and Practice และการลงนามความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. กับสถาบัน CFA เพื่อเปิดช่องทางให้ ก.ล.ต. ตรวจสอบรายชื่อผู้สอบผ่าน CFA ระดับที่ 1 ถึง 3 ในระบบของสถาบัน CFA ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกในเรื่องการขึ้นทะเบียนและต่ออายุการเป็นผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ