กรมสุขภาพจิต เชิดชู พ่อผู้เป็นแบบอย่าง ทุ่มเทชีวิตให้กับลูกป่วยจิตเวช พร้อมเสริมพลังให้ผู้ดูแล

ข่าวทั่วไป Wednesday December 13, 2017 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--กรมสุขภาพจิต วันนี้ (5 ธันวาคม 2560) ที่ รพ.ศรีธัญญา นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต มอบหมาย นพ.พงษ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดงาน "เพราะรัก จากพ่อ" (You Are Loved Forever)" จัดขึ้นโดย สมาคมสายใยครอบครัวร่วมกับสมาคมสมาพันธ์ผู้ดูแลไทย พร้อมมอบรางวัล "พ่อผู้ดูแล...ที่รัก" เชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจให้ 5 คุณพ่อผู้เป็นแบบอย่างในการทุ่มเทชีวิตดูแลครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเวชมาเป็นระยะเวลานาน โดยกล่าวว่า โรคทางจิตเวชทุกโรครักษาได้ เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ยิ่งเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ยิ่งดี เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยต้องกินยา หรือฉีดยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ตามปกติ แต่เรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ปัญหาการขาดยา หรือการลดยา รวมถึงการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด การดูแลรักษาผู้ป่วยทางจิตที่ดี จึงต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่าง โรงพยาบาล ครอบครัวและชุมชน โดยครอบครัวและชุมชนต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย ให้การยอมรับ และให้โอกาสกับพวกเขา การมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านการรักษาอย่างต่อเนื่อง การดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว ส่งเสริมการมีอาชีพตามศักยภาพ ย่อมส่งผลให้อาการป่วยทางจิตดีขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน หลายครอบครัวมีผู้ป่วยจิตเวชอาศัยร่วมอยู่ด้วย ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น อาจมีทั้งความรู้สึกผิด รู้สึกอาย หวาดกลัว หรือโกรธ การยอมรับการป่วยทางจิตในครอบครัวจึงต้องอาศัยระยะเวลา ผู้ป่วยและครอบครัวจึงต้องมีความอดทนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่หรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย ต้องมีความเสียสละและอดทนต่อสภาพปัญหาทั้งจากในครอบครัวและสังคม จนบางครั้งแทบไม่มีเวลาดูแลตัวเองและประสบปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้ บุคคลเหล่านี้จึงควรได้รับการยกย่อง ตลอดจนได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำเนินชีวิตที่ต้องต่อสู้เพื่อคนที่รักที่สุด ด้าน พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์ จิตแพทย์ทรงคุณวุฒิ รพ.ศรีธัญญา และนายกสมาคมสายใยครอบครัว กล่าวเสริมว่า ปัญหาที่มักพบ เมื่อมีผู้ป่วยจิตเวชอาศัยอยู่ในบ้าน คือ ปัญหาช่องว่างระหว่างผู้ดูแลกับผู้ป่วยที่เข้าใจไม่ตรงกัน ผู้ป่วยมองโลกรอบตัวอย่างหนึ่ง พ่อแม่หรือผู้ดูแลก็มองอีกอย่างหนึ่ง ผู้ดูแลอาจไม่เข้าใจอาการและโลกข้างในของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยถอยห่างออกไป รู้สึก ไม่เป็นที่ต้องการ ขาดกำลังใจ ไม่กินยา และไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้น ผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องพยายามทำความเข้าใจ อดทน ไม่รังเกียจ ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธผู้ป่วย ไม่ควรขัดแย้งหรือโต้เถียง แสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับ รวมทั้งให้การดูแลเรื่องการกินยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ดูแลสุขภาพอนามัย พาพบแพทย์ตามนัด หากพบว่า ผู้ป่วยนอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ ก้าวร้าว วิตกกังวล หวาดกลัว ฉุนเฉียวง่าย ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือโทรปรึกษา สายด่วน 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญ ต้องดูแลสภาพร่างกายและจิตใจของตนเองร่วมด้วย เพราะหากผู้ดูแลเกิดความเครียดหรือมีปัญหาสุขภาพจิตย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเช่นกัน และการจัดกิจกรรมในวันนี้ มุ่งหวังที่จะเผยแพร่ความรู้ทางจิตเวชและเสริมพลังให้กับผู้ดูแลผู้ป่วย ผ่านการบรรยายและการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากวิทยากรทรงคุณวุฒิ อาทิ ศ.พญ.อุมาพร ตรังคสมบัติ เจ้าของรางวัลจิตแพทย์ดีเด่นและเจ้าของเพจเฟชบุ๊ค "ปั้นใหม่" ศ.ดร.ประชา ไทยวัชรามาศ "พ่อผู้เป็นแบบอย่าง" และ คุณวีระ มีชูธน Co - Founder of LIFEIS ตลอดจน มอบรางวัล "พ่อผู้ดูแล...ที่รัก" เชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจให้ 5 คุณพ่อผู้เป็นแบบอย่างในการทุ่มเทชีวิตดูแลครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเวช ได้แก่ คุณแสวง ยมมูล คุณพิเชษฐ มุจลินทังกูร คุณโสภณ สมสกุล พ่อผู้ดูแลลูกป่วยโรคจิตเภท คุณเฉลียว จันทร์อ่อน พ่อผู้ดูแลภรรยาป่วยโรคซึมเศร้า และ คุณเกษม เกิดร่วมบุญ พ่อผู้ดูแลลูกป่วยโรคออทิสติก "ปัญหาทางจิตเวชไม่ใช่มีเพียงแค่จะรักษาอาการของลูกอย่างไร แต่ต้องเผชิญหน้า หาทางรับมือ ด้วยความรู้ความเข้าใจและด้วยสิ่งที่สำคัญกว่า" พญ.สมรัก กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ