คิดแบบ Tech Startup โดย ผศ.สุพล พรหมมาพันธุ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ข่าวทั่วไป Monday December 18, 2017 13:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม เมื่อวันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ร่วมกันจัดเสวนาพิเศษ Teck Talk #12 IT SPU ในรายวิชา BUS200, CSC200 และ CSE200 บัณฑิตในอุดมคติ ให้ความรู้กับนักศึกษา หัวข้อ "คิดแบบ Tech Startup" โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรร่วมเสวนา คือ คุณโชติวัน วัฒนลาภ (คิว) CEO บริษัท Easecode นักศึกษา IT ชนะเลิศการแข่งขัน AIS Startup 2014 ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ณ ห้อง Auditorium 1 ชั้น 14 อาคาร 40ปี มหาวิทยาลัยศรีปทุม พอสรุปประมวลความได้ดังต่อไปนี้ คุณโชติวันเล่าว่า เขาเริ่มเรื่องการคิดแบบ Tech Startup นั้น ตอนเริ่มเข้ารับการฝึกอบรมในโครงการ SIPA เมื่อตอนเป็นเด็กนั้นติดเกม เคยเล่นเกมตั้งแต่เวลา 18.00 น.-เวลา 08.00 น. เช้าของวันรุ่งขึ้น คะแนนเก็บในการเรียนไม่ค่อยมี มีแต่คะแนนสอบอย่างเดียว เคยไปเข้าเป็นคอรัสร้องเพลงประสานเสียงเหมือนกัน ตอนเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 นั้นได้เกรดเฉลี่ย 1.97 เป็นคนเรียนไม่เก่ง และมีเพื่อนไม่มาก เวทีแรกที่ส่งผลงานเข้าประกวด คือ Imagine Cup ตอนเรียนอยู่ชั้นปี 2 เป็นลักษณะการแข่งการเขียนโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ สำหรับโจทย์ที่เขาให้ทำคือ "แนวช่วยเหลือสังคม" เป็นสร้างสร้างแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคม ในขณะทำนั้น ได้ไปเก็บข้อมูลที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีเพื่อนในทีมเดียวกันจำนวน 4 คน ในการเก็บข้อมูลนั้น ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา และผู้ที่เคยจัดทำแอพพลิเคชั่นด้วย การเข้าไปเก็บข้อมูลนั้น หากเข้าไปเก็บในสถานะการเป็นนักศึกษานั้น ส่วนใหญ่จะได้รับข้อมูลเป็นอย่างดี เพราะผู้คนคงคิดว่า ไม่ได้ไปแสวงหาผลประโยชน์อะไร การพัฒนาแอพพลิเคชั่นในครั้งนั้น เป็นแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการรอคอยรถเมล์ เพราะเคยมีประสบการณ์การยืนคอยรถเมล์เป็นระยะเวลานาน การเข้าประกวดแข่งขันในเวทีแรกปรากฎว่าแพ้ หลังจากนั้นจึงเอาแอพพลิเคชั่นเดิมมาพัฒนาปรับปรุงใหม่ และส่งเข้าประกวดภายนอก ปรากฎว่า ได้รับรางวัลที่ 2 และเคยได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1 (1st Award from Hackathon) ต่อมาได้รับเลือกเป็น Microsoft Partner ร่วมกับ นายอานนท์ เขาก็ให้ไปออกบูธตามงานต่างๆ ขายผลิตภัณฑ์กล่องของไมโครซอฟท์ ราคากล่องละ 1,500 บาท นายโชติวัน สามารถขายได้ 2,900 บาท เพราะเราเป็นพนักงานบริการ เมื่อบริการให้กับลูกค้าดี เขาก็ใช้บริการของเรา บริษัทไมโครซอฟท์ให้เข้าร่วมการอบรมเกี่ยวกับ Improve Sales Skills at Commart ไมโครซอฟท์เขาจะอบรมเรื่องเทคนิคการขายให้ ได้ค่าแรงวันละ 1,000 บาท ตอนนั้นเป็นบูธของบริษัท JIB ตอนเรียนหนังสืออยู่ก็เคยเปิดชมรม ชื่อ @คลินิค นัดเจอเพื่อนในชมรมทุกวันศุกร์ มีการสอนให้ Present งาน บอกแนวทางการส่งโครงงานเข้าประกวด ไปออกบูธในครั้งแรกๆ นำกระดาษ A4 ไปเขียนติดประกาศ ต่อมามีการประชาสัมพันธ์ และระดมทุน ในโอกาสต่อมา ได้ส่งผลงานเข้าประกวด AIS Startup 2014 และ ได้รับรางวัลชนะเลิศ AIS StartUp 2014 ในหมวด Corporate Solution ในชื่อทีม Nugrean ระบบติดตามรถโรงเรียนได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท และได้สนับสนุนการจัดบูธเพื่อหานักลงทุนสิงคโปร์ กิจกรรมระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ – 20 เมษายน พ.ศ.2557 มีลงข่าวในหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ใจความว่า "Nugrean" คือหนึ่งในแอพพลิเคชั่นฝีมือนักศึกษาไทย ที่ใช้ติดตามตัวเด็กเล็กตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา เพื่อเป็นการป้องกันการถูกลักพาตัว หรืออันตรายต่างๆ ที่จะเกิดกับเด็กเล็ก เรียกได้ว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียน และต้องการความปลอดภัย อีกทั้งยังรวมไปถึงสถานศึกษาที่สามารถนำไปใช้เพื่อทราบถึงตำแหน่งของนักเรียน เมื่อเกิดกรณีเด็กนักเรียนหายตัวไปเรียกได้ว่าตอบโจทย์สำหรับปัญหาสังคมในปัจจุบัน เนื่องจากเหตุการณ์เด็กหายตัวไป หรือ ถูกลักพาตัว เกิดขึ้นบ่อยในสังคมไทย นายโชติวันเล่าต่อว่า แรงบันดาลใจในการทำแอพพลิเคชั่น Nugreanมาจากการเห็นข่าวเด็กนักเรียนถูกลักพาตัว และถูกข่มขืนบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความคิดอยากทำแอพพลิเคชั่นที่ใช้ช่วยเหลือสังคม เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยแก่เด็กเล็ก ทำให้เกิดไอเดียที่จะสร้างและพัฒนาแอพพลิเคชั่น Nugrean ขึ้นมา(Source: http://www.komchadluek.net) และเคยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คือคุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ เรียกเข้าพบทั้งทีมเพื่อขอดูโครงงานที่ทำเกี่ยวกับรถเมล์ ดังนั้น หากรุ่นน้องที่เรียนชั้นปี 1 ควรหาโอกาสไปพบผู้คนตามงานต่างๆ และเขาจะสอนงานให้ เมื่อมีลูกค้าเข้ามาถามปัญหา เราก็ต้องพัฒนา Solution เข้ามาแก้ไขปัญหา เช่น สมมุติว่า เรามีไอเดียว่า จะทำการจ้างพิธีกรเข้ามาช่วยงานในอาทิตย์หน้า อยากทราบว่า มีพิธีกรคนไหนว่างบ้าง ก็สามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างนี้ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้ หรือแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการส่งสินค้า (logistic) สามารถเอาสินค้าจากคลังสินค้าไปส่งให้ลูกค้าได้ภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง เมื่อก่อนต้องใช้เวลานานมาก แอพพลิเคชั่นลักษณะนี้มีรายได้เป็น 100,000 บาท แอพพลิเคชั่นแรกที่ทำไปมีรายได้ประมาณ 3 ล้านบาท และแอพพลิเคชั่นที่ 2 ทำรายได้ต่อปี 8 ล้านบาท หากใครต้องการจะพัฒนาแอพพลิเคชั่น แต่ไม่มีทุน สามารถไปแสวงหาทุนได้ เช่น บริษัท AIS ต้องเข้าไปหากลุ่มบริษัทที่ให้การสนับสนุนเหล่านี้ และในเวทีของ Hult Prize ร่วมกับ Hult International Business School, ประธานาธิบดี บิล คลินตัน และ Clinton Global Initiative ก็ได้มีการส่งเสริมนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทั่วทุกมุมโลกในการคิดสร้างสรรค์ไอเดียเพื่อช่วยจัดการกับปัญหาใหญ่ที่สุดส่วนหนึ่งซึ่งเป็นความท้าทายในยุคสมัยของเราในระดับโลก ด้วยการมอบเงินทุนจำนวน 1 ล้านดอลล่าร์ และตอนนี้ JIB ก็เข้ามาเป็นลูกค้า ซึ่งมีหุ้นส่วนในตลาด 50% เกี่ยวกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ คำแนะนำสุดท้าย หากอยากเป็น Stratup ควรดำเนินตามหลัก 3 ประการ คือ (1) ควรวิ่งหาโอกาส เอาตัวเองเข้าไปหาโอกาส แล้วจะเจอสิ่งดีๆ ที่อยู่รอบตัวเรา (2) ฟอร์มทีมกับเพื่อน แบ่งกันให้ชัดเจนกับหุ้นส่วนว่าใครได้กี่เปอร์เซ็น ให้ระวังเรื่องเหล่านี้ เพราะตอนที่โชติวันทำนั้น มีประสบการณ์มาแล้วคือพอได้เงินจำนวน 2 ล้านบาทมาแล้ว ทำให้ทีมแตกกัน (3) ใช้สถานะของนักศึกษาให้เต็มประสิทธิภาพ เพราะการใช่สถานะของการเป็นนักศึกษา เมื่อไปขอความช่วยเหลือจากใคร ก็มีแต่คนอยากช่วยเหลือ เพราะเขาคงไม่คิดว่า จะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์อันใด. https://www.spu.ac.th/award/15640/academic

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ