สคร.11 เตือนหลังน้ำลดระวังโรคฉี่หนู

ข่าวทั่วไป Tuesday December 19, 2017 17:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เตือนประชาชนในพื้นที่ภาคใต้หลังน้ำลดลงต้องระวังป่วยด้วยโรคฉี่หนู โดยเฉพาะการเดินลุยน้ำย่ำโคลน ถ้ามีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา อย่าซื้อยากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็วและแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาด เพื่อป้องกัน พญ.ศิริลักษณ์ ไทยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคใต้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ในช่วงน้ำลดนี้ประชาชนต้องระมัดระวังโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคฉี่หนู ซึ่งเชื้อจะมากับปัสสาวะสัตว์นำโรคและปนเปื้อนมากับน้ำท่วมขัง หรือทางเดินชื้นแฉะ โดยเชื้ออาจอยู่ตามบริเวณดังกล่าวได้ เชื้อโรคชนิดนี้จะสามารถเข้าทางบาดแผล หรือตามรอยถลอก รวมถึงผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานได้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สคร.11 พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 12 ธันวาคม 2560 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนู 506 ราย เสียชีวิตแล้ว 20 ราย เป็นเพศชาย 17 ราย เพศหญิง 3 ราย จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือ นครศรีธรรมราช จำนวน 8 ราย รองลงมา สุราษฎร์ธานี จำนวน 5 ราย ระนอง จำนวน 3 รายกระบี่ 2 ราย ชุมพรและภูเก็ตจังหวัดละ 1 ราย ปัจจัยเสี่ยงของผู้เสียชีวิต พบว่าเข้ารับการรักษาล่าช้าเกิน 3 วัน มีบาดแผลที่เท้า ลงแช่น้ำน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติมากกว่า 6 ชั่วโมง และเดินย่ำน้ำในพื้นที่ชื่นแฉะโดยไม่สวมรองเท้า พญ.ศิริลักษณ์ กล่าวเพิ่ม สำหรับอาการของโรคฉี่หนู จะเริ่มจากมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว หากรักษาล่าช้า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด อาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นให้ปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลนที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง 2.ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ มีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง 3.หากมีบาดแผลที่เท้าหรือที่บริเวณขา ขอให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล 4.หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงาน และ 5.การเข้าบ้านหลังน้ำลด ต้องกำจัดขยะในบ้านเรือน โดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ