สาธิตธรรมศาสตร์ไม่แยกสอน วิทย์-คณิต ม.1

ข่าวทั่วไป Tuesday December 26, 2017 13:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศราวุธ จอมนำ ครูประจำโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของโรงเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมาว่า เป็นการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงทั้งสองศาสตร์ดังกล่าวไว้ในบทเรียนเดียวกัน โดยออกแบบให้เชื่อมโยงกับชีวิตจริงผ่าน Theme สวนสนุก ซึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในเชิงลึกแก่นักเรียน ทั้งนี้หลักสูตรของกลุ่มประสบการณ์ฯ มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้ การดำรงชีวิต และการขับเคลื่อนสังคมในอนาคตในฐานะ "นวัตกรสังคม" มากกว่าการมุ่งให้ได้รับเนื้อหาความรู้เพียงอย่างเดียว เนื่องจากวิทยาศาสตร์ศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ใกล้ชิดกัน การเรียนการสอนที่แยกศาสตร์ดังกล่าวออกจากกันแม้จะทำให้นักเรียนได้รับความรู้และฝึกทักษะเฉพาะด้านโดยตรง รวดเร็ว และชัดเจน แต่มีสิ่งที่สำคัญที่ขาดหายไปคือการเชื่อมโยงองค์ความรู้ไปสู่ชีวิตจริง บทเรียนจึงไม่มีความหมายต่อนักเรียนและทำให้ขาดแรงจูงใจในการเรียน "ความสงสัย ความอยากรู้ และการตั้งคำถาม เป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของนักวิทยาศาสตร์ เราเชื่อว่าทุกคนมีสิ่งเหล่านี้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่มักจะค่อย ๆ เลือนหายไปเมื่อโตขึ้น เราจึงอยากช่วยให้มันยังคงอยู่กับเด็ก ๆ ของเรา โดยออกแบบบทเรียนให้เห็นถึงการใช้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในชีวิตจริง ภายใต้บรรยากาศที่ปลอดภัยสำหรับการสงสัย และตั้งคำถาม เราเชื่อว่าเนื้อหาวิชาเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การฝึกฝนทักษะ ให้เขาคิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีวิจารณญาณ ไม่งมงาย ไม่ยึดติด รู้จัก Learn, Unlearn และ Relearn" ศราวุธ กล่าวว่า กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics หรือ SM) มีครูผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่หลากหลาย ทั้งปิโตรเคมี พันธุศาสตร์ วิศวะเคมี ฟิสิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพ และคณิตศาสตร์ ซึ่งคอยให้มุมมองอย่างรอบด้านตามประสบการณ์ของครูแต่ละคน นับเป็นต้นทุนและโอกาสที่ดีสำหรับการเรียนรู้แบบบูรณาการ ในภาคเรียนที่ผ่านมาจึงได้ออกแบบบทเรียนภายใต้"Theme สวนสนุก" โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ วิทย์คณิตในสวนสนุก, SM Special Class, และโปรเจกสวนสนุก บทเรียนในช่วงแรกเน้นการสร้างแรงบันดาลใจ ความรู้และทักษะพื้นฐาน โดยครูเข้าสอนพร้อมกัน 3-4 คน ต่อนักเรียน 25 คน บทเรียนในช่วงนี้แบ่งเป็น 3 โมดูลย่อย โมดูลแรกคือ "สวนสนุกในโลกนี้" เป็นบทเรียนเกี่ยวกับการค้นคว้าข้อมูล การรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลทางสถิติ การจัดจำแนก (Classification) และเกณฑ์ โมดูลสองคือ "อาหาร" เป็นบทเรียนเกี่ยวกับอาหาร สารอาหาร ปริมาณพลังงานจากอาหารและที่ร่างกายต้องการ โมดูลที่สามคือ "เครื่องเล่น" เป็นบทเรียนเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ แรง อัตราเร็ว ของเครื่องเล่นในสวนสนุก โดยทุกบทเรียนมีการสอดแทรกความรู้และทักษะเกี่ยวกับการวัด การคำนวณพื้นฐาน อัตราส่วน คู่อันดับ กราฟ ด้วย ช่วงที่สองเรียกว่า SM Special Class เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกเรียนรู้ตามศาสตร์ที่ตนเองสนใจอย่างลึกซึ้งหลังจากเรียนคลาสปกติมาแล้ว มีทั้งสิ้น 5 Topic ได้แก่ "Food Science" คลาสที่ให้นักเรียนลงมือทำคุกกี้เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น "Chemistry"คลาสที่ให้นักเรียนได้เล่นการ์ดเกมเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับธาตุและสารประกอบใกล้ตัว "Computational Physics" คลาสที่ให้นักเรียนทำนายรูปแบการเคลื่อนที่ของวัตถุผ่านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเรียนรู้การคำนวณในฟิสิกส์ "Aromatic Plants" คลาสที่ให้นักเรียนค้นหาความลับของพืชที่ให้กลิ่นเพื่อเรียนรู้ชีวะและเคมี "3D Design" คลาสที่ให้นักเรียนวาดแบบจำลองสามมิติลงบนกระดาษ Isometric และการวาดรูปOrthographic เพื่อเรียนรู้อัตราส่วนและฝึกความสามารถเชิงปริภูมิ ทั้งนี้ นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ 1 Topic หลังจากนั้นนักเรียนต้องนำประสบการณ์ที่ได้ไปถ่ายทอดให้เพื่อนที่เลือกเรียน Topic อื่น ซึ่งนักเรียนเป็นผู้ออกแบบ วางแผน และจัดกระบวนการด้วยตนเอง โดยมีครูประจำคลาสเป็นที่ปรึกษา ช่วงที่สาม เป็นช่วงเวลาที่ให้นักเรียนทำโปรเจกสวนสนุกในฝัน กลุ่มละ 5 คน เพื่อแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปตลอดทั้งภาคเรียน โดยเริ่มจากการเขียน Proposal สอบ Defend แล้วจึงลงมือทำงานที่ประกอบด้วยแบบจำลอง 2 ชิ้น คือ แบบจำลองสวนสนุก ซึ่งออกแบบให้เหมาะสมกับสถานที่จริงในโลก พร้อมออกแบบแผนผัง องค์ประกอบ ร้านอาหารและเครื่องเล่นที่เป็นเอกลักษณ์และสอดคล้องกับแนวทางของสวนสนุก และแบบจำลองเครื่องเล่นที่ทำงานได้จริงตามมาตราส่วนที่กำหนดให้ รวมทั้งเมนูอาหารที่มีการออกแบบทางโภชนาการให้เหมาะสมกับพลังงานที่ใช้ในสวนสนุกของตน แล้วนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการแก่ครูทั้งโรงเรียนในช่วงสัปดาห์ประเมินปลายภาคที่ผ่านมา "การออกแบบการเรียนรู้แบบนี้ทำให้ห้องเรียนกับชีวิตจริงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราเชื่อว่าเมื่อบทเรียนมีความหมาย เด็ก ๆ จะ 'อยาก'เรียน และเต็มที่กับการทำกิจกรรม ส่วน SM Special Class เป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้เวลากับสิ่งที่อยากจะรู้จักให้มากขึ้น โดยครูสามารถพา 'ดำดิ่ง' ให้ลึกลงไปในเนื้อหาของศาสตร์ได้ง่ายขึ้น เราจบการเรียนการสอนในห้องเรียนตั้งแต่ครึ่งเทอมแรก ที่เหลือเป็นเวลาสำหรับโปรเจกสวนสนุก การทำโปรเจกให้สำเร็จนั้นเรียกร้องให้เด็ก ๆ ได้ประเมินตนเองว่า ที่ผ่านมาเขาเข้าใจบทเรียนมากน้อยแค่ไหน และต้องการความรู้หรือทักษะอะไรเพิ่มเติมอีกมั้ย แล้วครูที่ปรึกษาประจำกลุ่มจะคอยสนับสนุนอยู่ใกล้ ๆ จะเห็นว่าเราไม่ได้ต้องการให้เด็ก ๆ ท่องจำเนื้อหาเพื่อไปสอบ แต่ต้องการให้เขาเข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อนำไปใช้จริง จนกลายเป็นความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เรียน ศราวุฒิ กล่าว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ