สพฐ.เปิดมิติใหม่พัฒนาการศึกษาไทย ชูโครงการ“นักจิตวิทยาโรงเรียน”ร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0

ข่าวทั่วไป Monday January 8, 2018 16:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--Mix and Match Communications สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดมิติใหม่พัฒนาคุณภาพการศึกษา ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 นำร่องโครงการ "นักจิตวิทยาโรงเรียน" ๒๖ เขตพื้นที่การศึกษา พร้อมเร่งกระจายให้ครบทั่วประเทศ พุ่งเป้าปรับทัศนคติให้เด็กกลับสู่ห้องเรียนด้วยความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ สร้างความมั่นคงและเติมเต็มศักยภาพการเรียนรู้ ชูศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน เดินหน้าผลิตรายการ "พระคุณที่สาม" ปีที่ ๓ สื่อสำคัญเชื่อมประสานภารกิจช่วยเหลือเด็ก เชิดชูครู และสถานศึกษา นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า สพฐ. ได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล ด้วยทักษะ ๓ ด้าน คือ ๑. ทักษะทางวิชาการ ที่จะต้องสอดคล้องกับอนาคตในศตวรรษที่ ๒๑ และการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล ๒. ทักษะอาชีพ เตรียมเด็กนักเรียนให้เข้าสู่งานอาชีพที่เหมาะสมกับความถนัดของเด็ก และ ๓. ทักษะชีวิต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เพราะเป็นการเข้าไปดูแลจิตใจให้เด็กคิดได้-ทำได้ โดยยึดหลักการทำงานเพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนสำหรับเด็กนักเรียน โดยเริ่มโครงการนำร่อง "นักจิตวิทยาโรงเรียน" ใน ๒๖ เขตการศึกษาทั่วประเทศไทย เพื่อนำนักจิตวิทยาเข้าไปแบ่งเบาภาระครู รวมทั้งปรับทัศนคติให้เด็กพร้อมกลับสู่ห้องเรียนในกรณีที่พบว่าเด็กอาจประสบเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและเติมเต็มศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ทั้งนี้ สพฐ. จะเป็นแกนหลักที่จะจัดให้มีนักจิตวิทยาโรงเรียนให้ครบทุกเขตพื้นที่การศึกษา ในเบื้องต้นมีนักจิตวิทยาโดยตรง จำนวน ๒๖ เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งในระยะเร่งด่วน สพฐ. จะพัฒนาศึกษานิเทศก์ทุกเขตพื้นที่ให้เป็นนักจิตวิทยาโรงเรียน ซึ่งโครงการนักจิตวิทยาโรงเรียนถือเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงภาคเอกชนที่ที่สนใจเรื่องของการพัฒนาเรื่องเด็กและเยาวชน ต้องระดมความร่วมมือเพื่อช่วยกับขับเคลื่อนการดำเนินโครงการทั้งในด้านของความรู้และการลงสู่ภาคปฏิบัติในพื้นที่จริง "จากการลงพื้นที่เพื่อติดตามการทำงานของหน่วยงานที่มีภารกิจให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ฉก.ชน.สพฐ.) ดำเนินการอยู่นั้น แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ในการติดตาม ประสานงาน ช่วยเหลือนักเรียนอย่างเต็มกำลังความสามารถ หลังการทำงานทุกครั้งจะนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงการช่วยเหลือเด็กนักเรียนให้มากที่สุด แต่หลายกรณีที่เกิดผลกระทบทางด้านสภาวะจิตใจเด็ก จึงจำเป็นต้องบูรณาการด้วยการนำความรู้ความเชี่ยวชาญของนักจิตวิทยาเข้ามาเยียวยา ด้วยการผสานทักษะและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันในการก่อประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเด็ก โดยศูนย์เฉพาะกิจฯ มีใจเกินร้อยที่จะให้ความช่วยเหลือเด็กให้คืนกลับสู่เส้นทางการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพและตั้งใจจะเป็นศูนย์ช่วยเหลือเด็กนักเรียนแบบครบวงจร ซึ่งโครงการนักจิตวิทยาในโรงเรียนอาจเริ่มต้นด้วยก้าวเล็กๆ แต่มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความมั่นคงและเติมเต็มศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน อยากให้ทุกคนเข้าใจถึงเหตุและผลของโครงการ จากนั้นจะได้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เลขาธิการ กพฐ. กล่าว ด้าน นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ฉก.ชน.สพฐ.) กล่าวว่า จากการนำร่องโครงการนักจิตวิทยาโรงเรียนเป็นระยะเวลาประมาณ ๒ ปี ใน ๒๖ เขตพื้นที่การศึกษา พบว่านักจิตวิทยาสามารถประเมินสถานการณ์และช่วยเหลือเด็กที่เผชิญปัญหาต่างๆ ในชีวิต เช่น ภาวะซึมเศร้า ได้อย่างลึกซึ้งและทันท่วงที ด้วยการทดสอบทางจิตวิทยาคลินิกซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของนักจิตวิทยาที่มีทักษะด้านการให้คำปรึกษาที่จะสามารถช่วยให้เด็กนักเรียนที่มีปัญหาเหล่านี้รอดพ้นจากภาวะดังกล่าวและกลับเข้าสู่ห้องเรียนด้วยความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยจะเร่งดำเนินการให้มีนักจิตวิทยาประจำทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศไทย ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับครูที่ปรึกษาและครูแนะแนวซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อตัวเด็กนักเรียน "เพื่อให้เห็นมิติที่รอบด้านของการเข้าไปให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนในแต่ละเคส รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรครูที่อยู่ในพื้นที่เป็นหน้าด่านเผชิญปัญหาต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กได้เข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์พร้อมนั้น เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ฉก.ชน.สพฐ. จึงได้ผลิตรายการสารคดีเชิงวาไรตี้ในชื่อ 'พระคุณที่สาม' โดยออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา ๑๑.๓๐ น. ทางสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ ๓ แล้ว ทั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทำงานของ ฉก.ชน.สพฐ ในมิติต่างๆ รวมทั้งเป็นการเชิดครูบุคลากรครูผู้อุทิศตนเพื่ออบรมถ่ายทอดความรู้ให้เด็กนักเรียนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตลอดจน สร้างการรับรู้สู่สังคมในสิ่งที่บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ทุ่มเทกับภารกิจ เพื่อเป็นกำลังใจให้ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มความรู้ความสามารถ สมเกียรติ และสมศักดิ์ศรีแห่งการเป็นข้าราชการของแผ่นดิน" ผู้อำนวยการ ฉก.ชน.สพฐ. กล่าวปิดท้าย สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมรายการ "พระคุณที่สาม" ได้ทุกวันเสาร์ เวลา ๑๑.๓๐ น. ทางช่องเอ็นบีที รวมทั้งรับชมย้อนหลังผ่านทาง เฟซบุ๊ก "พระคุณที่สาม ฉก.ชน.สพฐ" และ ยูทูป "พระคุณที่สาม สพฐ" ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ