กนอ.ทุ่มงบเกือบ 1.3 พันล้าน โชว์ฟอร์มเด่นนิคมฯ สะเดาสงขลา พร้อมเตรียมเปิดพื้นที่ 927 ไร่ รับ 5 อุตสาหกรรม สตาร์ทปลายปี 61

ข่าวทั่วไป Monday January 15, 2018 08:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โชว์ความพร้อมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสะเดา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลาเตรียมทุ่มงบ 1,280 ล้านบาทและพื้นที่ 927 ไร่รองรับ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยความคืบหน้าการจัดตั้งโครงการฯ ขณะนี้มีนักลงทุนแสดงความสนใจในการเช่าพื้นที่นิคมฯ ดังกล่าวแล้วจำนวน 7 รายในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะพัฒนาควบคู่กันไป เช่น การก่อสร้างถนนสาย สงขลา 1027 – ปาดังเบซาร์ การก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ที่กำหนดแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม ปี 2562 ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างและวางระบบโครงสร้างพื้นฐานได้ประมาณปลายปี 2561 และจะเปิดดำเนินการได้ประมาณปลายปี 2562 นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ กนอ. มีนโยบายจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน (SEZ) และได้กำหนดให้พื้นที่ของอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในแผนการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสะเดา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา เพื่อเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวภาคใต้ของไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านนั้น ขณะนี้การจัดตั้งโครงการเริ่มมีความคืบหน้าทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน แผนการรองรับ กิจกรรมด้านการตลาด รวมทั้งความสนใจจากนักลงทุนและผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าในช่วงปลายปี 2561 จะเริ่มมีการก่อสร้างและวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน และพร้อมเปิดดำเนินการให้นักลงทุนเข้าใช้พื้นที่เพื่อประกอบกิจการได้ปลายปี 2562 เป็นต้นไป นายวีรพงศ์ฯ กล่าวเสริมว่า การพัฒนาโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสะเดาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ล่าสุด กนอ.ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ไว้ทั้งสิ้น 927 ไร่ แบ่งเป็นเขตประกอบการทั่วไป 289 ไร่ เขตประกอบการโลจิสติกส์ 119 ไร่ เขตประกอบการเสรี 81 ไร่ เขตพาณิชย์ 48 ไร่ พื้นที่สีเขียว 102 ไร่ และพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 286 ไร่ ภายใต้งบประมาณการลงทุนรวม 1,280 ล้านบาท โดยขณะนี้ยังมีนักลงทุนแสดงความสนใจในการเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมสะเดา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลาแล้วจำนวน 7 ราย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุ และธุรกิจท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสะเดา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลายังมีความคืบหน้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากหน่วยงานเครือข่ายอื่นๆ ที่จะพัฒนาควบคู่กันไป ได้แก่ ด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งกรมทางหลวงชนบทกำลังเร่งก่อสร้างถนนสาย สงขลา 1027 – ปาดังเบซาร์ เพื่อช่วยแบ่งเบาการจราจรจากทางหลวงหมายเลข 4 ปาดังเบซาร์และด่านสะเดา และ 3 โครงการที่อยู่ระหว่างการออกแบบ คือ ทางหลวงหมายเลข 4 - ด่านสะเดา แห่งที่ 2 มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย และรถไฟทางคู่สุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่ ด้านศุลกากรและระบบการผ่านแดน อยู่ระหว่างก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ กำหนดแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2562 การปรับปรุงด่านปาดังเบซาร์ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง การเพิ่ม 3 ด่านศุลกากร ได้แก่ ด่านอาหารและยา ด่านสินค้าเกษตร และด่านตรวจสัตว์ ซึ่งหากโครงสร้างพื้นฐานสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลกำหนด จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักลงทุนได้พิจารณาตัดสินใจลงทุนในพื้นที่อุตสาหกรรมสะเดา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา นายวีรพงศ์ฯ กล่าวปิดท้ายว่า กนอ.ยังได้วางเป้าหมายให้นิคมอุตสาหกรรมสะเดา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่เพื่อการรองรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยยังคงมั่นใจว่า ความได้เปรียบจากจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นทั้งศูนย์กลางทางการค้าและการท่องเที่ยว การมีทรัพยากรที่เอื้อต่อการผลิตทางอุตสาหกรรม ตลอดจนพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT – GT) และ การพัฒนาเศรษฐกิจในบริเวณแนวพื้นที่ภาคเหนือของมาเลเซีย (NCER) จะเป็นปัจจัยที่ดีที่จะช่วยสร้างโอกาสในการดึงดูดการค้าและการลงทุน พร้อมทั้งพัฒนาไปสู่การเป็นภูมิภาคเศรษฐกิจระดับสากลร่วมกันในอนาคตอันใกล้นี้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองประชาสัมพันธ์ การนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 0 2253 0561 ต่อ 1193 หรืออีเมล investment.1@ieat.mail.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ