มิวเซียมสยาม จัดงานวันเด็กแห่งชาติ “กาลครั้งหนึ่ง ณ มิวเซียมสยาม” ชุบชีวิตประเพณีไทยท้องถิ่นท้องหายาก สู่การละเล่นเสริมการเรียนรู้กับพิพิธภัณฑ์

ข่าวทั่วไป Monday January 15, 2018 10:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ มิวเซียมสยาม เปิดพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมฟรีในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2561 พร้อมจัดกิจกรรม "กาลครั้งหนึ่ง ณ มิวเซียมสยาม" ตอน ไทยละเล่น ไทยประเพณี ชุบชีวิต จำลองประเพณีไทยท้องถิ่นที่หาดู หาเล่น หาเรียนรู้ได้ยากในปัจจุบัน ให้เยาวชน และครอบครัว ร่วมสนุกและใช้เวลาร่วมกันอย่างมีประโยชน์ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนไทยหันมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์มากยิ่งขึ้น และให้พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย ภายในงานประกอบด้วย 1) โซนกิจกรรมกลางแจ้ง : จำลองบรรยากาศงานประเพณีดัง ที่หาเรียนรู้ได้ยาก ได้แก่ ประเพณีแข่งเรือยาว ประเพณีสารทเดือนสิบและพิธีชิงเปรต ประเพณีวิ่งควาย ประเพณีตำข้าวเม่า ประเพณีสงกรานต์ พร้อมกิจกรรมการแข่งขัน ในแต่ละโซน 2) ฐานประดิษฐ์ของเล่น : ลานประดิษฐ์ของเล่นพื้นถิ่นจากวัสดุหาง่ายในธรรมชาติ อาทิ เรือไม้ลำปอ กิจกรรมระบายสี ตัดพวงมโหตร เป็นต้น สร้างเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และ 3) บอร์ดเกมสำหรับเด็กเล็ก : สื่อการเรียนรู้เรื่องประเพณีไทยในรูปแบบของเกมกระดาน อาทิ เกมโดมิโนประเพณี 12 เดือนของชาวอีสาน และ เกมการ์ดจับคู่ภาพประเพณี เป็นต้น เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้จดจำ และมิติสัมพันธ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้กับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ตลอดจนติดข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ ได้ที่ www.museumsiam.org หรือ facebook.com/museumsiamfan นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า มิวเซียมสยามเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน อันเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต ผ่านการใช้พิพิธภัณฑ์ กิจกรรม และสื่อการเรียนรู้สร้างสรรค์ ที่สนุก หลากหลาย ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2561 นี้ มิวเซียมสยามได้ดำเนินการพัฒนากิจกรรม ภายใต้แนวคิดเรียนรู้ผ่านการละเล่น (Learning by Playing) เพื่อให้เยาวชน สามารถเรียนรู้ สนุกไปกับการละเล่น และใช้เวลาร่วมกันกับเพื่อนและครอบครัวอย่างมีประโยชน์ เสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนฝึกฝนทักษะทางด้านร่างกายและพัฒนาการที่จำเป็น นายราเมศ กล่าวเพิ่มว่า มิวเซียมสยามได้จัดกิจกรรมในชื่อ "กาลครั้งหนึ่ง ณ มิวเซียมสยาม" ตอน ไทยละเล่น ไทยประเพณี โดยหยิบเอาเนื้อหาจาก 1 ใน 14 ห้องของนิทรรศการถอดรหัสไทย ที่มีชื่อว่า ห้องไทยประเพณี ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของขนบธรรมเนียมประเพณี และภูมิปัญญาไทย อันเกิดจากความคิด ความเชื่อในสังคม และมีการถ่ายทอดสืบต่อกันมา ในรูปของความเชื่อ ศีลธรรมจรรยา ค่านิยม กิจกรรมประกอบประเพณี ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย และกลายเป็นเอกลักษณ์ในปัจจุบัน ภายในงานประกอบด้วย - โซนกิจกรรมกลางแจ้ง : ลานกิจกรรมที่จำลองเอาประเพณีท้องถิ่นชื่อดัง ที่หาเล่น หาเรียนรู้ได้ยากในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญ และขั้นตอนของการประกอบประเพณีที่มีมาตั้งแต่โบราณ ประกอบด้วย 1. ประเพณีแข่งเรือยาว กิจกรรมแข่งขันเรือบก หรือเรือติดล้อ ที่จำลองการแข่งขันเรือยาว โดยจับกลุ่มละ 5 คน ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ เรือและผู้คน บนพื้นฐานความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชน 2. ประเพณีสารทเดือนสิบและพิธีชิงเปรต การแข่งขันปีนขึ้นไปหยิบธงจากยอด โดยนำเอาแนวความเชื่อที่ว่าการหยิบเศษอาหารจากที่เหลือจากการตั้งเปรตมากิน ถือเป็นสิริมงคล 3. ประเพณีวิ่งควาย กิจกรรมจำลองการแข่งวิ่งควาย พร้อมชุดมาสคอตควายแสนน่ารัก เป็นประเพณีท้องถิ่นที่แสดงถึงความกตัญญูรู้คุณต่อควายที่เป็นสัตว์คู่ชาวนา อาชีพหลักของชาวไทยในอดีต 4. ประเพณีตำข้าวเม่า ประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีทั้งการร้องรำ แข่งขันการตำข้าวเม่าอย่างสนุกสนาน เสริมสร้างความสามัคคีใน ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้เรื่องราววิถีชีวิตของชาวนา ประเพณีการตำข้าว พร้อมทั้งลงมือแข่งขันตำข้าวเม่าตามโจทย์ที่ได้รับ 5. ประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณ จึงเป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพัน ที่มีต่อกันทั้งครอบครัว และศาสนา ผู้เข้าร่วมจะได้สนุกกับกิจกรรมวิ่งเปี้ยวสงกรานต์ เรียนรู้ขั้นตอนประเพณีสงกรานต์ที่สำคัญ อย่าง การเตรียมของใส่บาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ก่อกองทราย ตลอดจนการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ - ฐานประดิษฐ์ของเล่น : กิจกรรมการประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุที่หาได้ง่ายจากธรรมชาติ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำวัสดุมาประดิษฐ์เป็นของเล่นภูมิปัญญาพื้นถิ่น เสริมสร้างความรู้ ฝึกจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ อาทิ กิจกรรมประดิษฐ์เรือไม้ลำปอ กิจกรรมประดิษฐ์เรือไม้จากกระดาษ และ กิจกรรมระบายสี ตัดพวงมโหตร เป็นต้น - บอร์ดเกมสำหรับเด็กเล็ก : สื่อการเรียนรู้เรื่องประเพณีไทยในรูปแบบของเกมกระดาน เสริมทักษะการเรียนรู้จดจำ และมิติสัมพันธ์ สำหรับเด็กเล็ก อาทิ เกมโดมิโนประเพณี 12 เดือนของชาวอีสาน และ เกมการ์ดจับคู่ภาพประเพณี เป็นต้น นอกจากโซนกิจกรรมให้ร่วมสนุกแล้ว มิวเซียมสยามยังเปิดอาคารนิทรรศการให้เข้าชมกันแบบไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดทั้งวัน โดยปัจจุบัน นิทรรศการที่จัดแสดงอยู่ที่มิวเซียมสยามมีอยู่ 2 นิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการถาวรชุด "ถอดรหัสไทย" นำเสนอการพัฒนาชาติไทย และมุมมองความเป็นไทยในหลากหลายมิติ อาทิ ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม การแต่งกาย คติความเชื่อ ตลอดจนประเพณีและวัฒนธรรม เป็นต้น และนิทรรศการ "ใจ ดู หู ฟัง" ชุด "สัมผัสภาพพ่อด้วยหัวใจ" นิทรรศการที่ไม่ต้องใช้ตาดูแต่เรียนรู้ผ่านการฟังและการสัมผัส ที่คนตาดีสามารถดูไปพร้อมๆ กับผู้พิการทางการมองเห็น ให้ประชาชนร่วมน้อมรำลึกในพระบารมี พระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มิวเซียมสยาม หวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในประวัติศาสตร์สังคม และวัฒนธรรม ให้แก่เด็กและเยาวชน เปิดมุมมองการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบของแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ ที่ทำหน้าที่มากกว่าเป็นเพียงสถานที่จัดเก็บโบราณวัตถุและนิทรรศการ ส่งเสริมให้ประชาชนไทยหันมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์มากยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างเสียงสะท้อนให้พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ของประชาชนทุกเพศทุกวัย นายราเมศ กล่าวสรุป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้กับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ตลอดจนติดข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ ได้ที่ www.museumsiam.org หรือ facebook.com/museumsiamfan

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ