มะเร็งหลังโพรงจมูก ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

ข่าวทั่วไป Monday January 15, 2018 14:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--โรงพยาบาลพระรามเก้า มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นอีกหนึ่งโรคมะเร็งร้ายที่กลายเป็นภัยเงียบและคร่าชีวิตผู้คนได้ไม่แพ้มะเร็งชนิดอื่นๆ เนื่องจาก มะเร็งหลังโพรงจมูกเป็นโรคที่อยู่ในตำแหน่งที่ซ่อนเร้นยากแก่การตรวจพบ จึงทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการของระยะที่มะเร็งลุกลามมากแล้ว และยากแก่การรักษา ซึ่งในแต่ละปีพบผู้ป่วยทั่วโลกเกือบ 1 ต่อประชากรแสนคน โดยเฉพาะในแถบเอเชียจะพบผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้มีเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ จีนตอนใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ในขณะที่ประเทศไทย พบมะเร็งหลังโพรงจมูก 25 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งพบว่าอุบัติการณ์ในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณสองเท่า ส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวถึงวัยกลางคน โดยในถิ่นที่มีความชุกของโรคสูงจะพบว่า มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสเอปสไตน์บาร์ (Epstein – Barr virus) ปัจจุบันก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่ามะเร็งหลังโพรงจมูกนี้เกิดจากสาเหตุอะไร แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเพิ่มอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูกได้ คือ 1. พันธุกรรม จากการที่พบว่ามะเร็งหลังโพรงจมูกมีความชุกสูงเฉพาะในบางเขตภูมิศาสตร์ เช่น ในประเทศจีนตอนใต้ และส่วนอื่นๆที่ชาวจีนอพยพไป ทำให้มีการศึกษาว่าพันธุกรรมอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ 2. ไวรัส เป็นที่ยอมรับกันว่าไวรัสเอปสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus) มีส่วนสำคัญต่อการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูก โดยศึกษาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกจะมีสารภูมิต้านทานต่อไวรัสชนิดนี้ ในปริมาณที่สูงกว่าประชากรทั่วไปที่มีสุขภาพดี 3. อาหารการกิน พบว่าในมณฑลกวางตุ้งซึ่งมีอุบัติการณ์ของมะเร็งหลังโพรงจมูกในอัตราสูงนั้น ประชาชนนิยมบริโภคปลาหมักเค็มกันมากกว่าส่วนอื่นของประเทศ ซึ่งในเรื่องอาหารนั้นในประเทศไทยก็พบว่า มีข้อมูลที่คนไทยบริโภคอาหารที่มีสารไนโตรซามีนในจำนวนมาก ซึ่งมีอยู่ในเนื้อสัตว์ อาหารหมักดอง เช่น ไส้กรอก แหนม ปลาร้า ปลาเค็ม 4. สิ่งแวดล้อม มีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง ที่อาจมีผลต่อการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูก ได้แก่ ฝุ่นละออง ควันไฟจากการเผาไม้หรือหญ้า สารเคมีต่างๆ ตลอดจนการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ พญ.วรรนธนี อภิวัฒนเสวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์ตา หู คอ จมูก โรงพยาบาล พระรามเก้า อธิบายว่า อาการเบื้องต้นของโรคนี้ ผู้ป่วยอาจมีหูอื้อข้างเดียว มีเสียงดังในหู คัดแน่นจมูก มีน้ำมูกหรือเสมหะปนเลือด เมื่อโรคมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ทำให้คลำได้ก้อนที่คอข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ เนื่องจากตำแหน่งของโพรงหลังจมูกอยู่ติดกับฐานสมอง ทำให้โรคสามารถลุกลามเข้าเส้นประสาทสมองหรือเข้าสมอง ทำให้ปวดศีรษะ หน้าชาด้านใดด้านหนึ่ง หรือเกิดการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น มองเห็นภาพซ้อน สำหรับการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะเริ่มจากซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยเฉพาะบริเวณโพรงหลังจมูก และหากสงสัยว่ามีความผิดปกติก็จะทำการส่องกล้องทางจมูกเพื่อตัดชิ้นเนื้อไปตรวจอีกครั้ง ในบางรายอาจตรวจเลือดหาสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสเอปสไตน์บาร์ สำหรับการตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อหาระยะและขอบเขตของโรคนั้นสามารถทำได้ด้วย CT Scan หรือ MRI บริเวณโพรงหลังจมูกและบริเวณลำคอ ตรวจการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ปอด อัลตราซาวด์ตับและช่องท้อง การกระจายเข้าสู่กระดูกหรือ Bone Scan การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูกโดยหลัก คือ การใช้รังสีรักษาซึ่งอาจรวมกับการให้เคมีบำบัดขึ้นอยู่กับระยะการดำเนินโรคของมะเร็ง ส่วนการผ่าตัดมีบทบาทน้อย เนื่องจากตำแหน่งของโรคอยู่ติดกับอวัยวะสำคัญ เช่น เส้นประสาทสมอง เส้นเลือดแดงใหญ่ในสมองและส่วนเนื้อสมอง ทำให้การผ่าตัดก่อให้เกิดอันตรายและความพิการสูงมาก ประกอบกับเซลล์ของมะเร็งส่วนใหญ่จะตอบสนองดีต่อการฉายรังสี ทำให้การผ่าตัดมีบทบาทในกรณีหลังรักษาแล้วแต่ยังคงมีเนื้อมะเร็งเหลือค้างอยู่ มะเร็งหลังโพรงจมูก นับว่าเป็นภัยเงียบที่ซ่อนเร้น แต่หากตรวจพบเร็ว ก็จะรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยส่งเสริมที่อาจเป็นสาเหตุของ มะเร็งหลังโพรงจมูกรวมถึงการปฏิบัติตัวและดูแลพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ก็เป็นการป้องกันภัยเงียบจากมะเร็งชนิดนี้ได้เช่นเดียวกัน
แท็ก โรคมะเร็ง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ