วธ.ระดมความเห็นภาครัฐ-เอกชน-ผู้ประกอบการ คลอด 6 แนวทาง ยกระดับแหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ใช้มิติวัฒนธรรมพัฒนาพื้นที่-สร้างอาชีพ-สร้างรายได้ รองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจ EEC

ข่าวทั่วไป Monday January 22, 2018 12:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมการขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรม รองรับการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า วธ.ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสำนักงานและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศและหน่วยงานสังกัดวธ.ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคใน 8 จังหวัดภาคตะวันออกเพื่อระดมความคิดแนวทางการส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า งานวัฒนธรรมมีความสำคัญและจำเป็นต่อการส่งเสริมการดำเนินงานในเขต EEC ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความสุขให้แก่คนไทยและชาวต่างชาติที่มาลงทุน มาทำงานและท่องเที่ยว รวมถึงผู้ที่มาอยู่อาศัยในพื้นที่ EEC โดยในเบื้องต้นที่ประชุมได้มีข้อสรุปแนวทางในการส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรม ในเขต EEC ดังนี้ 1.เสนอให้คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.)พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการมารับผิดชอบในการศึกษาข้อมูลและขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยให้มีผู้แทนภาคเอกชนและภาคประชาชนร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ เพื่อส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรมในเขต EEC ด้วย 2.ให้วธ.ยกร่างกรอบแผนงาน/โครงการส่งเสริมงานวัฒนธรรมในพื้นที่ EECจัดส่งให้สำนักงาน EEC เพื่อใช้ประกอบการดำเนินงาน โดยให้ครอบคลุมทั้งแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้เดิมและที่จะจัดสร้างขึ้นใหม่ 3.ประสานการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมกับคณะอนุกรรมการด้านการท่องเที่ยว EEC 4.ให้หน่วยงานในสังกัดวธ.ดำเนินการคัดเลือกและจัดลำดับแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เพื่อจัดทำเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ EEC อาทิ โบราณสถาน ศาสนสถาน ชุมชน สถานที่สำคัญ รวมถึงเทศกาลและประเพณีที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น อีกทั้งเชิญภาคเอกชนลงไปดูพื้นที่จริง และให้ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ ในแต่ละเส้นทาง 5. ให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) 8 แห่ง ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กรมการศาสนา(ศน.) และสำนักงานศิลปากรในเขตพื้นที่จัดทำข้อเสนอการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมถึงเทศกาล ประเพณีสำคัญส่งให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานส่วนกลาง เพื่อเป็นข้อมูลในการยกร่างกรอบแผนงาน/โครงการส่งเสริม วธ.ใน EEC และ 6.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนงาน/โครงการ/งบประมาณเพื่อดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรมในเขต EEC ข้างต้น นอกจากจะช่วยยกระดับแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในพื้นที่ EEC แล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่น ศิลปินพื้นบ้าน และผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมในพื้นที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานและสร้างสรรค์วัฒนธรรม รวมทั้งก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความสุขและความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองให้แก่ประชาชนอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ