ฟิทช์คงอันดับเครดิต GPSC ที่ 'A+(tha)’; อันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 24, 2018 16:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) กับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่ 'A+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ที่ 'A+(tha)' ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต การกระจายตัวของสินทรัพย์ที่มากขึ้น: อันดับเครดิตของ GPSC สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัท ที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำขนาดกลางในประเทศไทย ฟิทช์คาดว่าสถานะทางธุรกิจของบริษัทจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากขนาดของธุรกิจ และการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ณ สิ้นปี 2560 GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ (ตามสัดส่วนการถือหุ้น) จำนวน 1,530 เมกกะวัตต์ และ 1,512 ตันต่อชั่วโมง ตามลำดับ โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4 ของกำลังผลิตทั้งหมดของประเทศ นอกจากนี้ GPSC กำลังพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มเติมจำนวน 392 เมกกะวัตต์ และ 70 ตันต่อชั่วโมง ตามลำดับ ความเสี่ยงด้านปริมาณการขายที่ต่ำ; คู่ค้าที่แข็งแกร่ง: รายได้ของ GPSC ส่วนใหญ่มาจากสัญญาการขายไฟฟ้า และไอน้ำ กับลูกค้าซึ่งมีสถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และบริษัทร่วมของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปตท. ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha)/Stable' สัญญาการขายไฟฟ้าและไอน้ำ ดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงในด้านปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง โดยลูกค้าต้องรับซื้อไฟฟ้าและไอน้ำ ขั้นต่ำร้อยละ 75 ของกำลังการผลิตตามสัญญา มีความเสี่ยงด้านราคาเล็กน้อย: กำไรของ GPSC จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าประเภทอุตสาหกรรม หรือ Industrial Users ซึ่งรวมถึงบริษัทร่วมของ ปตท. มีความเสี่ยงด้านราคาขายเล็กน้อย ถึงแม้ว่าสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าจะใช้ราคาเชื้อเพลิงเข้ามาร่วมประกอบการพิจารณา แต่การปรับค่าไฟฟ้าแต่ละครั้งนั้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งในอดีตได้มีความล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นในการปรับค่าไฟฟ้าโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ค่าไฟฟ้าที่ขายให้ กฟผ. แบบ Non-firm นั้นขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ไฟฟ้า และความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของระบบโดยรวมในขณะนั้น กำไรที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ของ GPSC จะเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งมาอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาท ในปี 2561 จาก 3.7 พันล้านบาท (ประมาณการ) ในปี 2560 (2559: 3.4 พันล้าน) เนื่องจากโครงการใหม่เริ่มดำเนินงาน ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตของรายได้มาจาก การดำเนินงานเต็มปีของโครงการ ไออาร์พีซี คลีนพาวเวอร์ ระยะที่ 2 (IRPC-CP Phase 2) และ การเริ่มดำเนินงานของโครงการการเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงานไฟฟ้า (เฉพาะส่วนการผลิตเชื้อเพลิง) ซึ่งจะเริ่มดำเนินงานในปี 2561 โดยโครงการทั้งสองน่าจะเพิ่ม EBITDAR ให้กับ GPSC ประมาณ 900 ล้านบาท ต่อปี การลงทุนที่สูง: ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ GPSC น่าจะติดลบในปี 2561 เนื่องจากการลงทุนที่สูงในโครงการใหม่ ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานน่าจะยังคงไม่เพียงพอสำหรับเงินลงทุน และจ่ายเงินปันผลในช่วงเวลาดังกล่าว ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ของ GPSC น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 2.2 เท่า ในปี 2561 จาก 1.6 เท่า (ประมาณการ) ในปี 2560 (2559: 1.0 เท่า) ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 2 เท่า ในปี 2562 เนื่องจากกำไรที่เพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะต้องใช้เงินลงทุน (รวมถึงเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อย) จำนวน 8.8 พันล้านบาท ในช่วงปี 2561 ถึงปี 2562 การเชื่อมโยงด้านการดำเนินการกับ ปตท.: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ GPSC ที่ 'A+(tha)' ได้พิจารณารวมถึงผลประโยชน์จากการเชื่อมโยงกับ ปตท. โดยเฉพาะจากความแข็งแกร่งด้านธุรกิจและการเงินของบริษัทร่วมของ ปตท. ในฐานะลูกค้าของบริษัท และความเสี่ยงที่ต่ำจากการซื้อไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัทเหล่านี้ รายได้และกำไรของ GPSC ต้องพึ่งพิงกลุ่ม ปตท. เป็นหลัก อย่างไรก็ตามรายได้จากการดำเนินงานและสถานะทางธุรกิจของ GPSC ต่อรายได้จากการดำเนินงานและสถานะทางธุรกิจโดยรวมของ ปตท. ยังคงน้อยมากในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ฟิทช์อาจพิจารณาความเชื่อมโยงกับ ปตท.อีกครั้ง หากรายได้จากการดำเนินงานของ GPSC ต่อ ปตท. เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลให้อันดับเครดิตของ GPSC มีการปรับเพิ่ม ถ้าฟิทช์สรุปว่า GPSC อาจได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกลุ่ม ปตท. การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัทที่ฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ โดยบริษัทมีความสม่ำเสมอของกำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ใกล้เคียงกันกับ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'A+(tha)/Negative') ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบินหลักของประเทศไทย และ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS Group (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'A-(tha)/Negative') ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสใน กรุงเทพมหานคร โดยบริษัทเหล่านี้มีกำไรที่มีความสม่ำเสมอเนื่องจากการแข่งขันที่ต่ำ หรือในกรณีของ GPSC ที่มีสัญญาซื้อขายกับลูกค้าระยะยาว อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ GPSC อยู่ในระดับที่ดีกว่า BAFS และดีกว่า BTSG อย่างมาก อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ BTS Group ได้พิจารณาถึงสถานะทางการเงินที่จะดีขึ้นตามลำดับหลังจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทแล้วเสร็จ สมมุติฐานที่สำคัญ สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ - ประมาณการงบการเงินรวมของ GPSC ได้ถูกปรับโดยใช้วิธี Proportionate Consolidation ทั้งในส่วน รายได้, กระแสเงินสด, เงินสด และหนี้ของ IRPC-CP; - โครงการการเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงานไฟฟ้า (เฉพาะส่วนการผลิตเชื้อเพลิง) และการขยายกำลังการผลิตของโรงผลิตสาธารณูปโภค เริ่มดำเนินงานในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ - เงินปันผลรับจากบริษัทย่อย และบริษัทร่วมที่ประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อปี ในปี 2560 และปี 2561 (2559: 700 ล้านบาท) - เงินลงทุนจำนวน 5.3 พันล้านบาท ในปี 2561 และ 1.4 พันล้านบาทในปี 2562 และเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อยจำนวน 1.2 พันล้านบาทในปี 2561 และ 700 ล้านบาทในปี 2562 - จ่ายเงินปันผลประมาณร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก - การปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเนื่องจากฟิทช์คาดว่าสถานะทางธุรกิจของ GPSC ไม่น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว ปัจจัยลบ - กำไรที่อ่อนแอกว่าที่คาด หรือเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาดซึ่งส่งผลให้ FFO-Adjusted Net Leverage ของบริษัทเพิ่มขึ้นเกิน 2.5x อย่างต่อเนื่อง - สถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอลงจากการลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานสูง - อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิอาจถูกปรับลด หากอัตราส่วน Secured Debt to EBITDA ของ GPSC เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงกว่า 2 เท่าอย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2560: 1.8 เท่า) สภาพคล่อง สภาพคล่องของ GPSC มีความแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 บริษัทมีเงินสดจำนวน 4.5 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับหนี้ที่ครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 287 ล้านบาท นอกจากนี้สภาพคล่องสำหรับการก่อสร้างโครงการใหม่น่าจะได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดจากการดำนเนินงานที่แข็งแกร่งและวงเงินที่สามารถเบิกกู้ได้จำนวน 6.5 พันล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ