ปภ.แนะประชาชนเรียนรู้วิธีปฏิบัติกรณีเข้าช่วยเหลือประสบอุบัติเหตุทางถนน

ข่าวทั่วไป Thursday February 8, 2018 14:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีปฏิบัติกรณีเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โทรศัพท์แจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง ช่วยเหลือผู้ที่มีอาการรุนแรงเป็นลำดับแรก กรณีหัวใจหยุดเต้น ให้นำผู้ประสบอุบัติเหตุนอนราบ บนพื้นแข็ง พร้อมปั๊มหัวใจโดยใช้มือกดบริเวณกลางหน้าอกใต้ลิ้นปี่ 30 ครั้ง ทำติดต่อกันจนกว่าผู้ประสบเหตุจะหายใจได้เอง กรณีกระดูกแตกหรือหัก ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุ เพราะจะทำให้พิการหรือบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น กรณีเลือดออกมาก ให้ทำการห้ามเลือดโดยนำผ้าสะอาดกดบริเวณปากแผลโดยตรงหรือใช้วิธีขันชะเนาะ กรณีอวัยวะฉีกขาด ใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลและพันรัดห้ามเลือดไว้ พร้อมส่งผู้ประสบเหตุไปยังสถานพยาบาล เพื่อทำการรักษาต่อไป นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนกรณี เข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนอย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อนที่ทำให้ผู้เข้าไปช่วยเหลือได้รับอันตราย และ ลดการบาดเจ็บรุนแรงจากการช่วยเหลือไม่ถูกวิธี ส่งผลให้ผู้ประสบอุบัติเหตุพิการหรือเสียชีวิตได้ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะประชาชนเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนกรณีเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก หากบริเวณที่เกิดเหตุมีปริมาณรถหนาแน่นหรือทัศนวิสัยไม่ดี ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัย ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพกู้ภัย มาช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน โทรศัพท์แจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดเกิดเหตุ จำนวน และอาการของผู้บาดเจ็บ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวางแผนการช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในเบื้องต้น โดยช่วยเหลือผู้ที่มีอาการรุนแรงเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผู้ที่หมดสติ หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น และเสียเลือดมาก กรณีบาดเจ็บเล็กน้อย ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามอาการ วิธีปฐมพยาบาลผู้ประสบอุบัติเหตุเบื้องต้น กรณีหัวใจหยุดเต้น ให้นำผู้ประสบอุบัติเหตุนอนราบบนพื้นแข็ง พร้อมปั๊มหัวใจ โดยใช้มือกดบริเวณกลางหน้าอกใต้ลิ้นปี่ 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปากหรือใช้วิธีกดหน้าอกให้ยุบประมาณ 1.5 – 2 นิ้ว อย่างแรงและเร็วประมาณ 100 ครั้งต่อนาที โดยทำติดต่อกันจนกว่าผู้ประสบเหตุจะหายใจได้เอง ไม่กดแรงจนเกินไป เพราะจะทำให้กระดูกซี่โครงหักก่อให้เกิดอันตรายมากขึ้น กรณีกระดูกแตกหรือหัก ผู้ประสบเหตุจะมีอาการบวมบริเวณผิวหนัง เลือดคั่งหรืออวัยวะผิดรูป ห้ามดึง ให้กระดูกกลับเข้าที่ และไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุ เพราะจะทำให้พิการหรือบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น ให้ทำการเข้าเฝือกชั่วคราว โดยใช้กิ่งไม้ นาบทั้งสองข้างของอวัยวะส่วนที่หัก แล้วใช้ผ้าหรือเชือกมัดให้แน่น เพื่อไม่ให้กระดูกส่วนที่หักเคลื่อนไหว กรณีเลือดออกมาก ให้นำผู้ประสบเหตุนอนราบกับพื้น ปลดเสื้อผ้าส่วนที่รัดร่างกายออก พร้อมยกส่วนที่เลือดออกมากให้สูงขึ้น จะช่วยให้เลือดไหลช้าลง จากนั้นทำการห้ามเลือด โดยนำผ้าสะอาดกดบริเวณปากแผลโดยตรงหรือใช้วิธีขันชะเนาะ ด้วยการนำผ้าหรือสายยางรัดบริเวณเหลือบาดแผล จะช่วยป้องกันผู้ประสบเหตุช็อกจากการเสียเลือดมาก กรณีอวัยวะฉีกขาด ใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลและพันรัดห้ามเลือดไว้ จากนั้นนำอวัยวะส่วนที่ขาดใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้แน่น พร้อมนำถุงไปแช่น้ำแข็งและส่งให้แพทย์ช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ หากไม่มีความรู้ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุบัติเหตุด้วยตนเอง ควรรอให้ หน่วยกู้ชีพกู้ภัยหรือทีมแพทย์ฉุกเฉินมาช่วยเหลือ จะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงจากการช่วยเหลือไม่ถูกวิธี ทำให้ผู้ประสบเหตุพิการหรือเสียชีวิต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ