ม.ร. บริการวิชาการ-วิชาชีพแก่ชาวอุทัยธานี ปี 5 ต่อยอดความรู้สู่การปฏิบัติจริง “ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ที่ยั่งยืน”

ข่าวทั่วไป Thursday February 8, 2018 16:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยรามคำแหง บริการความรู้ด้านวิชาการ-วิชาชีพแก่ประชาชนจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 22 โครงการ เป็นปีที่ 5 มุ่งนำนวัตกรรมใหม่ต่อยอดความรู้สู่การปฏิบัติจริง "ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้ที่ยั่งยืน" เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี จัดโครงการบริการวิชาการและวิชาชีพแก่ชุมชนชาวจังหวัดอุทัยธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมด้วย นายเผด็จ นุ้ยปรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี เป็นประธานเปิดงาน และมี รองศาสตราจารย์สุกัญญา ต้นธนวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิทยบริการจังหวัดอุทัยธานี คณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ผู้แทนองค์กรภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนชาวจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดใกล้เคียงร่วมงาน จำนวนกว่า 1,500 คน ณ สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดอุทัยธานี โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชาให้โอกาสและขยายโอกาสทางการศึกษาออกไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนใกล้บ้าน และช่วยพ่อแม่ทำงานได้ทั้งยังคิดค่าหน่วยกิตถูกที่สุดในโลก โดยเปิดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพในทุกระดับชั้น และมุ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจหลัก 4 ด้าน คือ การเรียนการสอน การวิจัยการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และ การบริการวิชาการแก่สังคม เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน ต้องการจะสร้างชีวิต สร้างอาชีพ และพัฒนาตนเองให้เจริญก้าวหน้า มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยินดีเข้าไปดูแลช่วยเหลือ และมุ่งเน้นการสร้างวิชาการและวิชาชีพแก่ชุมชนอย่างแท้จริง "ภูมิใจที่มหาวิทยาลัยได้นำความรู้ทางด้านวิชาการและวิชาชีพมาให้บริการแก่ชุมชนชาวอุทัยธานีอย่างต่อเนื่องและได้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และขอขอบคุณองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ช่วยเชื่อมโยงผู้นำชุมชนเครือข่ายต่างๆ มาเข้าร่วมโครงการ ได้เห็นความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรกรที่มุ่งมั่นเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ นำความรู้ไปประยุกต์ใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และได้เรียนรู้การแปรรูปผลิตผลสร้างเป็นอาชีพอิสระ ช่วยเพิ่มรายได้ ทำให้ชาวอุทัยธานีและจังหวัดใกล้เคียงมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น" ด้าน นายเผด็จ นุ้ยปรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดโครงการบริการทางวิชาการและวิชาชีพมาอย่างต่อเนื่องถึง ๕ ปี ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ประชาชนชาวอุทัยธานีได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาของตนเอง ชุมชนและสังคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีและมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ร่วมมือในการจัดกิจกรรมบริการวิชาการและวิชาชีพแก่ชุมชนชาวอุทัยธานีมาตั้งแต่ปี 2557 โดยกิจกรรมต่างๆ ล้วนแต่มีประโยชน์และพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ประชาชนอย่างมาก กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ถือเป็นประโยชน์และตรงกับความต้องการของชุมชนทั้งสิ้น หวังอย่างยิ่งว่าชาวชุมชนจังหวัดอุทัยธานีจะนำความรู้และคำแนะนำต่างๆ ที่ได้รับกลับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์และสามารถต่อยอดการเรียนรู้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อพัฒนาตน พัฒนางาน และอาชีพต่อไป สำหรับ กิจกรรมในปีนี้มีคณะต่างๆ เข้าร่วม 14 คณะ จำนวน 22 โครงการ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ การสร้างองค์ความรู้แก่เกษตรกรและ SMEs ได้แก่ การเขียนและวิเคราะห์โครงการเพื่อการกู้ยืมจากแหล่งทุนใจระบบ การประยุกต์ใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในด้านการเกษตร การเตรียมนาโนไคโตซานสำหรับการเกษตรและการต้านทานศัตรูพืช การนำพลังงานแสงแดดมาใช้ในการเกษตร การผลิตน้ำส้มสายชูจากผลไม้ การแปรรูปเห็ดเป็นอาหารสุขภาพ และหลักการตลาดสมัยใหม่และบรรจุภัณฑ์ ส่วน การสร้างองค์ความรู้ทั่วไปแก่ประชาชนและส่วนราชการ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มอนามัยและสาธารณสุข และแกนนำชมรมผู้สูงอายุ ได้แก่ การส่งเสริมพัฒนาทักษะสมอง Executive Function (EFs) จิตวิทยาและเทคนิคการสอนสำหรับครูผู้ดูแลเด็ก พัฒนาทักษะการป้องกันและการช่วยเหลือเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดในสมองและหัวใจสำหรับผู้สูงอายุ ทักษะการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ และการให้ความรู้ด้านปัญหาสายตาและการดูแลสุขภาพสายตาเบื้องต้น กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว การโรงแรม และหอการค้า ได้แก่ อบรมภาษาจีนให้แก่ยุวมัคคุเทศก์ อบรมภาษาอังกฤษให้แก่ยุวมัคคุเทศก์ และการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน กลุ่มครูและประชาชนที่มีหน้าที่เป็นพิธีกร นักประชาสัมพันธ์ ได้แก่ ศิลปะการพูดในที่ชุมชน ทักษะการร้องเพลง (ไทยสากล) และทักษะการร้องเพลง (ไทยเดิม) และกลุ่มส่วนราชการ อปท.ครู (กศน.) นักพัฒนาชุมชน และประชาชนทั่วไป ได้แก่ การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น 4 ปี เทคนิคในการติดตามประเมินผล แผนงานและโครงการ การวิจัยเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการเสริมสร้างความรู้ด้านกฎหมายแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ