กพร. จับมือภาคเอกชนไทย และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก อัด 1,200 ลบ. พัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมหลอมโลหะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Monday February 12, 2018 11:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ และภาคเอกชนไทย พัฒนาอุตสาหกรรมหลอมโลหะที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก กว่า 1,200 ล้านบาท ตั้งเป้าลดการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า การพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานให้เข้าสู่ยุค 4.0 โดยเน้นการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สมัยใหม่เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งของ กพร. โดยในปี 2561 กพร. จะดำเนินโครงการลดมลภาวะทางอากาศจากโรงงานหลอมเศษโลหะ โดยเฉพาะมลพิษที่ตกค้างยาวนานซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่จงใจ (U-POPs) อาทิ ไดออกซินและฟิวแรน ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาที่ผ่านมาพบการปลดปล่อยสารไดออกซินหรือฟิวแรนจากอุตสาหกรรมหลอมโลหะของไทยแต่ละปีมีปริมาณมากกว่า 119 กรัม TEQ (Toxic Equivalent) หรือคิดเป็น ร้อยละ 11 ของการปลดปล่อย U-POPs จากภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด การดำเนินโครงการจึงตั้งเป้าลดปริมาณการปลดปล่อยมลพิษดังกล่าวให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยใช้เทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Technique: BAT) และแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practice: BEP) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลอมโลหะเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กพร. จะดำเนินงานร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization: UNIDO) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทย ภายใต้วงเงินกว่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,200 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี นายวิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานโครงการดังกล่าว จะมีการกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหลอมโลหะอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ "พัฒนาคน" จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับกระบวนการหลอมโลหะ พร้อมถ่ายทอดความรู้และฝึกอบรมให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม "พัฒนาโรงงาน" จัดตั้งโรงงานหลอมโลหะต้นแบบที่มีการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จำนวน 4 โรงงาน เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ประกอบการได้เข้ามาศึกษา พร้อมบริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปปรับใช้ในโรงงานได้จริง และ "พัฒนาคลัสเตอร์" ปรับปรุงกฎ ระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ พร้อมทั้งกำหนดนโยบายเพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม มีความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมหลอมโลหะตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และสร้างความเชื่อมโยงที่เข้มแข็งของกลุ่มอุตสาหกรรมโลหการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งนี้ นอกจากเป้าหมายที่จะพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีให้แก่ภาคอุตสาหกรรมแล้ว โครงการนี้ ยังมุ่งเน้นในด้านส่งเสริมการให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการรับซื้อเศษโลหะรายย่อยในเรื่องการคัดแยกขยะหรือของเสีย รวมทั้งการจัดเก็บที่ถูกวิธี ซึ่งจะช่วยลดการปนเปื้อนของวัตถุดิบที่จะนำกลับไปรีไซเคิลและ เป็นการลดมลพิษที่จะเกิดขึ้นได้อย่างตรงจุดมากที่สุด โดยจะมีการประชาสัมพันธ์และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ภาคเอกชนและประชาชนผู้สนใจอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ "กพร. มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานโดยยึดแนวทาง การสานพลังประชารัฐ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้สามารถก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ควบคู่ไปกับการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน" นายวิษณุ กล่าวทิ้งท้าย อุตสาหกรรมหลอมโลหะ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบหลักให้แก่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์และอากาศยาน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิตมักจะเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศ ทั้งฝุ่น ควัน เนื่องจากเศษโลหะต่าง ๆ ที่ใช้ในการหลอมโลหะ มักมีการปนเปื้อนของสารมลทินเป็นจำนวนมาก เมื่อนำไปหลอมในเตาจึงอาจทำให้เกิดก๊าซเสียและสารมลพิษต่าง ๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ