เด็กภูมิดีด้วยดนตรีพื้นบ้าน

ข่าวทั่วไป Monday February 12, 2018 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข โรงเรียนวัดลาดทราย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน ในตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีครู 16 คน นักเรียนราว 300 คน ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 โดยโรงเรียนตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดและอยู่ติดกับชุมชน และรายล้อมไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ แม้จะไม่ถึงกับเป็นชุมชนแออัดเหมือนชุมชนทั่วไป แต่กลับเป็นความแออัดในเชิงความเสี่ยงต่อยาเสพติด การแต่งงานเร็ว คุณแม่วัยใส และเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพตั้งแต่อายุยังน้อย รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวว่าภารกิจหลักของมูลนิธิฯ คือการให้โอกาสแก่คนที่พร้อมจะรับโอกาส โดยเฉพาะเด็กที่มีความสนใจในดนตรีพื้นบ้านหรือดนตรีไทย โครงการเด็กภูมิดีด้วยดนตรีพื้นบ้านเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โรงเรียนเรียนวัดลาดทราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และองค์การบริหารส่วนตำบลลำไทร โครงการเด็กภูมิดีฯ ถือกำเนิดขึ้นเพื่อให้เด็กและเยาวชนโรงเรียนวัดลาดทราย ประชาชนในชุมชนตำบลลำไทรและบริเวณใกล้เคียงได้เรียนรู้และใกล้ชิดกับดนตรีพื้นบ้านและยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากยาเสพติด นางสุวิมล เปลื้องกระโทก ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดลาดทราย กล่าวว่า โรงเรียนของเราได้รับการสนับสนุนกิจกรรมจากมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และภาคีเครือข่ายมาหลายกิจกรรมแล้วรวมถึงโครงการเด็กภูมิดีด้วยดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์เครื่องดนตรีจาก อบจ.พระนครศรีอยุธยา และ อบต.ลำไทร และได้รับความอนุเคราะห์บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยจากมูลนิธิฯ รวมถึงการฝึกสอนและดำเนินกิจกรรมทั้งหมด ช่วงเวลาในการซ้อมดนตรีไทยของนักเรียน คือวันทุกจันทร์และวันพุธ ช่วงพักกลางวันและช่วงบ่าย โครงการนี้ทำให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีความรับผิดชอบ มีความตั้งใจในการจดจำตัวโน๊ตและมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น ปัจจุบันวงดนตรีไทยของเด็กระดับประถมศึกษามีน้อยมาก เนื่องจากเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นมีราคาสูง ผู้เล่นจะต้องมีวินัยในการฝึกซ้อม มีสมาธิและความสามัคคีในการเล่นดนตรี เมื่อก่อนนักเรียนของเราจะมีกิจกรรมการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว ผลคือเด็กไม่อยู่นิ่ง ไม่มีสมาธิ ไม่อยากอ่านหนังสือ พอได้เรียนดนตรีไทยเขาจะเกิดการซึมซับวัฒนธรรมไทย รักในความเป็นไทย มีใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำตรงหน้า ก่อนการซ้อมจะมีพิธีการไหว้ครูทุกครั้ง มีการจัดวางท่านั่งที่เหมาะสม มีการสำรวมกิริยาที่ดี เด็กทุกคนรักเครื่องดนตรี รักเสียงดนตรี และรู้จักการเก็บรักษาเครื่องดนตรีทุกชิ้นอย่างดี เราในฐานะที่เป็นครู รู้สึกดีใจนะ ที่ได้เห็นรอยยิ้มของเด็ก เค้ามีความสุขกับการเรียนรู้ในสิ่งที่เค้ารักเค้าชอบ ที่สำคัญดนตรียังส่งผลให้การเรียนของเค้าดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ภูมิใจมาก นอกเหนือจากการรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่ไปเล่นซนเหมือนเด็กทั่วไป ตอนนี้ครูใกล้จะเกษียณแล้ว ครูอยากให้โรงเรียนวัดลาดทรายคงวงดนตรีเด็กภูมิดีไว้ให้ยาวนานที่สุดเพราะเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยและไว้เป็นวิชาติดตัวในการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพได้ในอนาคต นายวีระพงษ์ ภู่เงิน ครูชำนาญการโรงเรียนวัดลาดทราย ครูผู้เสียสละและทุ่มเทเวลาให้กับวงดนตรีเด็กภูมิดีด้วยดนตรีพื้นบ้าน กล่าวว่า ไม่น่าเชื่อเลยว่าเด็กโรงเรียนวัดลาดทราย จะมีโอกาสมาถึงจุดนี้ จุดที่เล่นดนตรีไทยได้อย่างคล่องแคล่ว รู้จักโน้ตทุกตัว พ่อแม่ของเด็กเห็นแล้วยังรู้สึกตื้นตันไม่อยากจะเชื่อว่าลูกหลานของตนเองจะทำได้ขนาดนี้ และยังเล่นพร้อมกันเป็นวงใหญ่ได้อย่างไพเราะ ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มให้ความสนใจโรงเรียนวัดลาดทรายมากขึ้น มีการจ้างไปเล่นดนตรีตามงานต่างๆ ทำให้นักเรียนมีรายได้และทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียงมากขึ้น สิ่งที่ทำไปเราก็มีเหนื่อยมีท้อกันบ้างนะครับ แต่เรารู้สึกว่าเราเห็นเด็กทำแล้วเราเกิดความภูมิใจในอาชีพครู มันตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก ผมไม่ได้ถนัดดนตรีไทยนะครับ แต่เห็นวันนี้แล้วเราต้องขอบคุณมูลนิธิฯ และตลาดหลักทรัพย์ที่จัดโครงการนี้ขึ้น เงินสนับสนุนในส่วนของครูผู้ดูแลในโรงเรียนผมและครูกรรณิกา ขอยกให้กับการซ่อมแซมห้องดนตรีไทยทั้งหมด เพราะเรารู้สึกว่าเด็กสำคัญกว่า จะได้มีประตูปิดห้องอย่างดี มีชั้นวางที่เหมาะสมไว้เก็บเครื่องดนตรีไทย มีเวทีที่เคลื่อนย้ายได้สะดวก ตอนนี้รอครูเกษียรตามอายุราชการและโรงเรียนมีการวางแผนจะเปิดรับตำแหน่งครูดนตรีไทยมาประจำที่โรงเรียนวัดลาดทรายครับ นายพีระพล ปลิวมา หรือ ครูเปา ครูผู้ฝึกสอนจากมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวว่า เราเริ่มต้น กิจกรรมที่การปูพื้นฐานการเรียนดนตรีไทยทั้ง 4 ประเภท สอนให้บำรุงรักษาเครื่องดนตรีและเริ่มจับมือสอนทีละคนเลย เริ่มพื้นฐานการตีคู่ 8 การตีคู่ 4 และพื้นฐานการต่อเพลงเบื้องต้น ผมสอนปี่พาทย์เป็นหลัก เด็กทุกคนเริ่มต้นจากศูนย์ มาถึงวันนี้ก็ดีใจครับ มีที่ทำไม่ได้บ้างก็ต้องให้กำลังใจ ฝึกให้เค้าอดทนและมีสมาธิ จดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า ฝึกให้เค้าฟังกันและกัน ฝึกรวมวงทุกครั้ง มาถึงทุกครั้งเราจะทวนเพลงเก่ารอบที่แล้ว การต่อเพลงใหม่ และรวมวงก่อนกลับบ้านทุกครั้ง ถือว่าพอใจมาก วันนี้เด็กตั้งใจและมีสมาธิมากขึ้น เด็กสามารถบรรเลงออกมาได้ระดับดี ดนตรีไทยถือว่าเป็นดนตรีของชาติที่ถือเป็นมรดกโบราณที่บรรพบุรุษได้ให้เราไว้ เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เมื่อได้เรียนแล้วยังสามารถใช้เป็นวิชาติดตัวได้ และสามารถบอกต่อ สืบสาน สร้างสรรค์เป็นความสามารถพิเศษของเค้าไป ขอให้ทุกคนตั้งใจเรียนและพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้ ที่คุณครูได้สอนและนำมาปฏิบัติประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน มีสมาธิ มีวินัย รู้จักดูแลรักษาเครื่องดนตรีไทย และมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อครูบาอาจารย์คือสิ่งสำคัญ น้องเดียร์ หรือ เด็กหญิงศิริญา บุรีนอก มัธยมศึกษาปีที่ 1 วิทยาลัยนาฏศิลป์ ศิษย์เก่าโรงเรียนวัดลาดทราย กล่าวว่า เดียร์มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน หนูเป็นพี่คนโต มีน้องชาย 3 คน เรียนที่นี่ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 ก่อนนี้มูลนิธิฯ แนะนำให้รู้จักโครงการเด็กภูมิดีด้วยดนตรีพื้นบ้าน และเปิดโอกาสให้คนที่สนใจเล่นดนตรีไทยเข้ามาสมัคร เดียร์จึงสนใจสมัครเข้าร่วมและฝึกฝนและพัฒนาฝีมือของตนเองมาเรื่อยๆ จนได้ออกไปเล่นที่งานต่างๆ มากมาย และมีโอกาสเข้าประกวดโครงการชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ แม้ไม่ได้รางวัลมาครอบครองก็ถือเป็นความภูมิใจที่สุดของเด็กโรงเรียนวัดที่แทบจะไม่มีโอกาสได้แตะเครื่องดนตรีไทยเลย หากไม่ได้รับโอกาสจากมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ถ้าไม่มีดนตรีไทยชีวิตคงหันเหเข้าสู้เส้นทางสายอาชีพและทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมใกล้บ้าน แต่ด้วยความขยันฝึกซ้อมและแสดงให้เห็นว่าเดียร์มีพัฒนาการที่ดีจริงๆ ทำให้เดียร์ใช้ความสามารถด้านดนตรีไทยในการสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยนาฏศิลป์ในปัจจุบัน ตั้งแต่เล่นดนตรีไทยก็เริ่มรักและอยากมีประสบการณ์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อยากเรียนต่อให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในอนาคตอยากเป็นครูสอนดนตรีไทย อยากเผยแพร่ดนตรีไทยให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัส ดนตรีไทยมีเสน่ห์ในตัวเอง ขอบคุณทุกคนที่ให้โอกาสที่ดีเหล่านี้ ขอบคุณครอบครัวให้การสนับสนุนอย่างดี น้องต้า หรือ เด็กชายวีรยุทธ คนคล่อง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม กล่าวว่า ต้าเรียนที่โรงเรียนวัดลาดทรายตั้งแต่อนุบาล มีพี่น้อง 2 คน ตัวเองเป็นคนที่ 2 ตอนนั้นสนใจอยากเข้าร่วมกิจกรรมมาก เพราะเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนไม่เคยมีมาก่อน เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่เริ่มเล่นคือระนาด ปัจจุบันนี้เล่นฆ้องวงเป็นหลัก ตอนสอบเข้าเราใช้ดนตรีสอบความสามารถพิเศษ พอประกาศผลว่าสอบได้คือดีใจมาก พูดไม่ถูก สิ่งที่เราตั้งใจทำมาไม่สูญเปล่า ทุกวันนี้ต้องตื่นตี 5 เพื่อออกบ้าน 6 โมงเช้า ซ้อมดนตรีที่โรงเรียนทุกวันถึง 6 โมงเย็นและกลับมาทำการบ้านต่ออีก เวลาว่างแทบไม่มี แต่ต้องทำเมื่อนึกถึงอนาคตของตัวเอง ดนตรีไทยเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของชีวิต เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป หากไม่มีดนตรีคงอยู่ลำบาก อาจจะไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ดนตรีไทยทำให้จิตใจสงบขึ้น มีสมาธิมีสติมากขึ้นกับการดำเนินชีวิต รศ.ดร.สุกรี กล่าวต่อว่า วงดนตรีเด็กภูมิดีด้วยดนตรีพื้นบ้านจะดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืนไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ ผู้ปกครอง คนในชุมชน การเว้นพื้นที่ขาวให้เด็กกลุ่มนี้คือหนทางหนึ่งที่จะทำให้เขาไปถึงปลายทางที่ตั้งไว้ เพราะคำว่าเด็กภูมิดี คือภูมิคุ้มกันจากปัจจัยแวดล้อมที่จะทำให้เด็กห่างไกลจากสิ่งยั่วยุ ล่อแหลม พวกเขามีกิจกรรมที่ดีทำแล้ว คนในชุมชนควรสนับสนุนด้วยวิธีการที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม คำว่าเด็กภูมิดี มาจาก ภูมิคุ้มกันดี ภูมิปัญญาดี ในปัจจุบันเด็กวงภูมิดี ได้เป็นวงที่บรรเลงเป็นประจำในงานศพวัดลาดทราย โดยท่านเจ้าอาวาสวันลาดทรายได้ให้นโยบายว่า ศพที่จะมาทำพิธีที่วัดลาดทรายต้องให้วงเด็กภูมิดีบรรเลง โดยเจ้าภาพจะให้ค่าตอบแทนจะมากน้อยแล้วแต่กำลัง และวัตถุประสงค์ช่วงแรกในการจัดโครงการคือจัดกิจกรรมการสอนดนตรีไทยให้กับเด็กชุมชนวัดลาดทราย ให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างภูมิคุ้มกันและเกราะป้องกันให้เด็กๆ ห่างไกลจากยาเสพติด และสร้างภูมิปัญญาให้เกิดกับท้องถิ่น โดยใช้ดนตรีพื้นบ้านซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลลำไทร ทำให้เด็กหันมาสนใจดนตรีพื้นบ้านและนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต แต่ตอนนี้สิ่งที่เกินความคาดหวังมาแล้วคือ วันนี้พวกเค้ามีวงดนตรีพื้นบ้านชื่อวง "เด็กภูมิดีด้วยดนตรีพื้นบ้าน" แล้ว โดยสามารถออกแสดงตามงานต่างๆ ได้ อาทิ งานบวช งานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานศพ ซึ่งสร้างรายได้และเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ ได้ ผมอยากให้สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับเด็กกลุ่มนี้ด้วยวิธีการที่ท่านมีหรือสิ่งที่ท่านถนัด ช่วยกันคนละไม้คนละมือ แล้วสังคมไทยจะน่าอยู่ขึ้นครับ รศ.ดร.สุกรี กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ