อัตราดอกเบี้ยไทย ถึงเวลาต้องขึ้นหรือยัง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 16, 2018 10:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--ทีเอ็มบี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองว่า ธปท.มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้โดยจะเป็นการขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากอัตราดอกเบี้ยโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง เพื่อลดพฤติกรรม Search for yield โดยผลกระทบต่อ SMEs จากการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวคาดว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวลนัก จากเทรนดอกเบี้ยโลกขาขึ้น นำโดยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปลายปี 2016 ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น มาเลเซียและเกาหลีใต้ ก็เริ่มขึ้นดอกเบี้ยแล้วเช่นกัน อีกทั้ง ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาดีก็สนับสนุนมุมมองที่ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งหาก ธปท. ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลยในปีนี้ จะทำให้ดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯถึง 0.75% คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ในอนาคต ย่อมทำให้ภาระค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยของธุรกิจต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งธุรกิจที่หลายฝ่ายเป็นห่วงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นธุรกิจ SMEs ซึ่ง ณ สิ้นปี 2017 มียอดคงค้างสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ทั้งสิ้น 4.86 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่อ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ Minimum Retail Rate (MRR) และ อัตราดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชี หรือ Minimum Overdraft Rate (MOR) ในอดีตการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% จะทำให้ MRR และ MOR ปรับขึ้นประมาณ 0.13% หมายความว่าหากมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ภาระดอกเบี้ยของ SMEs ทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6.24 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.4% ของค่าใช้จ่ายดำเนินการทั้งหมด ประกอบกับกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง อีกทั้ง NPLs SMEs ที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.3% ในไตรมาส 4 ที่ผ่าน สะท้อนการเริ่มฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs ทำให้เมื่อวิเคราะห์ในภาพรวม ผลกระทบจากภาระดอกเบี้ยของ SMEs ที่จะเพิ่มอาจไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวลมากนัก นอกจากนี้ หากมองในมุมส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับเฟด ดอกเบี้ยไทยที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเฟด จะยิ่งเป็นการสนับสนุนให้นักลงทุนหันมาระดมทุนในไทยที่ดอกเบี้ยถูกกว่าและนำไปลงทุนต่างประเทศเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ทั้งการออกไปลงทุนโดยตรง (Direct Investment) และการลงทุนในสินทรัพย์ (Portfolio Investment) ซึ่งในปี 2016 คนไทยออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศกว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศอีกกว่า 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การออกไปหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ อาจเป็นเรื่องที่ดี แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง การออกไปลงทุนในต่างประเทศก็เป็นเหมือนการนำเงินออมภายในประเทศไปสนับสนุนหรือพัฒนาโครงการในต่างประเทศ ซึ่งสำหรับการออกไปลงทุนโดยตรงนี้ ประโยชน์ที่จะได้จากการลงทุนตั้งกิจการใหม่ ทั้งการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและการพัฒนาของธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำที่เกี่ยวข้อง ก็จะไปตกอยู่กับประเทศที่นักลงทุนไทยออกไปลงทุน ซึ่งหากการลงทุนดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศไทย ประโยชน์ที่ได้ก็มีโอกาสกระจายไปสู่คนไทยในวงกว้างได้มากกว่า ในขณะที่การออกไปลงทุนโดยการซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศ นอกจากจะเป็นการนำเงินออมในประเทศไปให้ประเทศอื่นกู้เพื่อลงทุนแล้ว ยังอาจเป็นการกระตุ้นพฤติกรรมหาผลตอบแทนที่สูงกว่าหรือ Search for Yield โดยที่นักลงทุนไม่ได้พิจารณาถึงความเสี่ยงอย่างถี่ถ้วน ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันกองทุนรวม FIFs มีมูลค่ารวมถึง 1.1 ล้านล้านบาท โดยกว่า 61% ถูกนำไปลงในตราสารหนี้ซึ่งถูกจัดเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงการผิดนัดชำระค่อนข้างต่ำ ทำให้นักลงทุนอาจไม่ได้ระวังความเสี่ยงที่หากธนาคารกลางในต่างประเทศเริ่มขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะทำให้มูลค่าสินทรัพย์ลดลง ดังนั้น หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวในระดับ 1.5% เป็นเวลากว่า 3 ปี ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่ามีโอกาสที่จะเริ่มเห็นดอกเบี้ยกลับมาเป็นขาขึ้นในปีนี้ แต่จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง?

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ