ก.อุตฯ จับมือภาคี รุกรีมิกซ์สูตรศูนย์ SSRC ผ่านแพลตฟอร์มเดียวกัน เดินหน้าเต็มสูบ!! ติดปีก SMEs ยุค 4.0

ข่าวทั่วไป Thursday February 22, 2018 11:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center : SSRC) เชื่อมโยงกลไก และการบริการทั้งหมดผ่านระบบดิจิทัล (Digital) สร้างความเข้าใจในกระบวนการทำงานและการใช้งานระบบ ให้กับหน่วยงานบริการ 270 หน่วย หวังเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการบริการของเอสเอ็มอีทั่วประเทศ พร้อมแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด! นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ"แนวทางการดำเนินงานศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี" ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วยการปรับโครงสร้างกลไกการสนับสนุนและการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีอย่างเป็นระบบ สามารถเข้าถึง แหล่งเงินทุนและการบริการต่าง ๆ ของทางภาครัฐได้อย่างทั่วถึง โดยมุ่งหวังให้ SMEs เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม มีแผนการเพิ่มประสิทธิภาพ ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center : SSRC) ซึ่งเป็น 1 ใน 9 มาตรการพิเศษเพื่อการขับเคลื่อน SMEs 4.0 โดยการให้บริการแก่ SMEs ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจในทุกพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงบริการทั้งในด้านการเงิน และด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเงิน โดยการยกระดับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 11 แห่ง และศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก จังหวัดลำปาง และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีประจำจังหวัด นอกจากนี้ยังร่วมกับศูนย์ OSS (SME One-Stop Service Center) ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว./SME Bank) และ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในภูมิภาคทุกจังหวัด รวมทั้งสิ้น 270 แห่งทั่วประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มการทำงานเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการบริการทั่วประเทศ เชื่อมโยงกลไกและบริการทั้งหมด ผ่านระบบดิจิทัล เพื่อให้สามารถส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ได้อย่างคล่องตัว รวดเร็ว และตรงตามความต้องการ ของ SMEs ทั่วประเทศมากที่สุด "กระทรวงฯ พร้อมเชื่อมโยงและร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายของศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนผลักดัน SMEs ของไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่นและก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจ มีความพร้อมในการแข่งขัน มีประสิทธิภาพและแนวคิดในการพัฒนาจัดการธุรกิจให้เป็นระบบ สามารถเชื่อมโยงการดำเนินงานในการส่งเสริมพัฒนา SMEs อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ SMEs ของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น" นายสมชาย กล่าว ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงาน ของศูนย์ SSRC ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายนั้น หน่วยงานเครือข่ายจะต้องเข้าใจบทบาทภารกิจและแนวทาง การดำเนินงานของศูนย์ SSRC อย่างชัดเจน และจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ หรือ ผู้ให้บริการจะต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพในเรื่องการให้บริการที่ดีด้วย กสอ.ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ จึงได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "แนวทางการดำเนินงานศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี" ขึ้น โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานเครือข่ายของศูนย์ SSRC ประกอบด้วย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1-11 ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก จังหวัดลำปาง ศูนย์ให้บริการ OSS ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว./SME Bank) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และหน่วยงานเครือข่ายมาเข้าร่วมในการสัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเครือข่ายให้มีองค์ความรู้ ความสามารถในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานให้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ SMEs ในการรับบริการที่เหมาะสม ถูกต้อง ครบถ้วน และได้รับการแก้ไขปัญหา อย่างทันท่วงที "สำหรับการดำเนินงานศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการขอรับบริการ ผ่านช่องทางต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้นแล้วกว่า 40,000 ราย ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ขอรับบริการด้านการเงิน ด้านการตลาด และด้านการบริหารจัดการ โดยด้านการเงินนั้น ศูนย์ SSRC ได้ให้ความช่วยเหลือแล้วจำนวนทั้งสิ้น 4,681 ราย รวมวงเงินสินเชื่อ ทั้งสิ้นกว่า 8,520.29 ล้านบาท" ทั้งนี้ กสอ. ให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถ ของผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการต่าง ๆ โดยมุ่งหวังยกระดับสมรรถนะของหน่วยงานของรัฐให้มีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร" นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ