THE ขานรับสนช.ไฟเขียวEEC –รัฐปูพรมลงทุนรถไฟฟ้า หนุนความต้องการใช้เหล็กพุ่ง ตั้งเป้ายอดขายเหล็กปี 61 ทะลุ 1 ล้านตัน

ข่าวอสังหา Friday March 2, 2018 08:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--พาร์ทูโกล THEฉายภาพอุตสาหกรรมเหล็กปี 61 สดใส รับแรงส่งหลังสนช.เห็นชอบEEC มั่นใจหนุนความเชื่อมั่นฟื้น โรงงานผุดใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ประกอบกับรัฐเร่งเครื่องลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า หนุนความต้องการใช้เหล็กในประเทศพุ่ง ตั้งเป้าหมายยอดขายเหล็กปีนี้ 1 ล้านตัน พร้อมประเมินราคาเหล็กทรงตัวในระดับสูง ดันยอดขายแตะ 1.6 หมื่นลบ. นายบุญชัย จิระพงษ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ สตีล จำกัด(มหาชน) หรือ THE เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในปี 2561 นี้ ประเมินว่าความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะมีแนวโน้มที่ดี ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบไปด้วย ฉะเชิงเทรา ระยองและชลบุรี คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้เหล็กเพื่อลงทุนก่อสร้างโรงงานของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของต่างประเทศ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ว่า EEC จะเป็นผลให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น หนุนให้มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยรวมขยับขึ้นเป็น 4 แสนล้านบาทภายในปี 2565 เพิ่มจากปี 2560 อยู่ที่ 2.83 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันทางรัฐบาลได้เร่งโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวนหลายสาย อาทิ สายสีชมพู สายสีส้ม สายสีเหลือง สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดโครงการลงทุนอสังาหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้บริษัทมีความเชื่อมั่นในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงภาพการลงทุนจะฟื้นตัว และตั้งเป้าหมายปริมาณขายเหล็กของบริษัทในปี 2561 จะพลิกกลับมาอยู่ที่ 1 ล้านตัน และคาดว่าราคาเหล็กในปีนี้จะยังคงทรงตัวในระดับสูง ผลักดันให้มียอดขายราว 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในปี 2560 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 200.59 ล้านบาท ลดลง 63.23% และมีรายได้รวม 13,788 ล้านบาท ลดลง 12.73% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แม้ว่าราคาขายเหล็กรูปเฉลี่ยในปี 2560 จะอยู่ที่ 19.61 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นประมาณ 10.34% แต่ปริมาณการขายลดลง ทำได้เพียง 8 แสนตัน ตามความต้องการซื้อที่ลดลง เนื่องจากโครงการของรัฐบาลในหลายโครงการในปีที่ผ่านมาเกิดความล่าช้า กระทบให้โครงการก่อสร้างการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวตาม บริษัทฯได้ใช้กลยุทธ์เพิ่มทีมขาย รวมทั้งเพิ่มมาตรการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขายให้มากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 273.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.38 ล้านบาทจากปีก่อนหน้า และคาดว่าในปี 2561 จะยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง "ผลประกอบการปี 60 ที่ลดลงเป็นไปตามความต้องการซื้อที่ลดลง และบริษัทฯจำเป็นต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในปี 60 รวมมูลค่า 114.96 ล้านบาท แบ่งเป็น สำรองหนี้ในส่วนของลูกหนี้การค้าจำนวน 4 ราย มูลค่า 102.37 ล้านบาท และอีก 12.59 ล้านบาท ได้ตั้งสำรองหนี้รองรับในส่วนของลูกหนี้จากกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มียอดค้างชำระนานเกิน 1 ปี แต่ถึงจะมีภาระการตั้งสำรองไม่ได้กระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท เพราะเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับรายรับ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ทำประกันการชำระหนี้ไว้ เพื่อเป็นแผนป้องกันความเสี่ยงอีกชั้นหนึ่งด้วย"นายบุญชัยกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ