ฝายห้วยยางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากพระมหากรุณาธิคุณ สู่การบริหารจัดการน้ำที่ราษฎรมีส่วนร่วม

ข่าวทั่วไป Thursday March 8, 2018 14:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--สำนักงาน กปร. ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ได้แยกมาจากตำบลนาวังและตำบลนาผือ โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 11 หมู่บ้าน อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในพื้นที่ ราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำนา อาชีพเสริมคือทอผ้าขิดและผ้าฝ้าย สภาพพื้นที่โดยรวมเป็นพื้นที่ลุ่ม ซึ่งเหมาะสำหรับทำการเกษตรมีลำห้วยขนาดใหญ่ไหลผ่าน เช่น ลำเซบายลำห้วยโปรงนอง แต่ที่ผ่านมายังขาดการบริหารจัดการน้ำที่ดี ยังผลให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอแก่ความต้องการของราษฎรทั้งการทำการเกษตรและการอุปโภค เนื่องจากต้องอาศัยน้ำฝนเมื่อถึงฤดูแล้งก็แห้งแล้งขาดน้ำเมื่อถึงฤดูฝนก็เกิดน้ำหลากน้ำท่วมเรือกสวนไร่นาของราษฎรได้รับความเสียหาย เนื่องจากยังไม่มีระบบการบริหารจัดการที่ดีพอ ราษฎรในพื้นที่ได้ถวายฎีกา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการฝายห้วยยางไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการก่อสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 13.20 เมตร ยาว 55 เมตร สูง 250 เมตร เพื่อเป็นอาคารบังคับน้ำให้มีระดับสูงขึ้นเพื่อให้สามารถส่งน้ำไปยังแปลงเพาะปลูกและอยู่อาศัยของเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันอาคารดังกล่าวยังทำหน้าที่เก็บกักน้ำในระดับที่กำหนด เพื่อเป็นน้ำต้นทุนสำหรับการใช้ประโยชน์ของราษฎรในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย พร้อมขุดลอกลำห้วยด้านเหนือน้ำลึก 1.50 เมตร ระยะทางยาว 1,600 เมตร คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน เมษายน 2561 นี้ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค การเลี้ยงสัตว์ การประมง และทำการเกษตรของราษฎรในพื้นที่ได้ จำนวน 183 ครัวเรือน พร้อมทั้งสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝนได้ จำนวน 1,750 ไร่ และในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 60 ไร่ นายอุดม เด่นดวง ราษฎรหมู่ที่ 9 ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ราษฎรที่ฎีกาขอพระราชทานโครงการฯ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาราษฎรประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและปัญหาน้ำท่วมและน้ำหลากในช่วงฤดูฝนตลอดมาแทบทุกปี และได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยการรวมตัวกันทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่แต่ก็ไม่เพียงพอเนื่องจากเป็นฝายขนาดเล็ก และไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ "ช่วงหน้าแล้งแทบทุกปีชาวบ้านทุกครอบครัวจะต้องออกไปหาน้ำตามลำห้วยและกลางทุ่งนา หาบกลับมาใช้ที่บ้านของตนเอง ทุกคนลำบากและเดือนร้อน รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ที่พระราชทานความช่วยเหลือด้วยการสร้างฝายขึ้นในพื้นที่ พระองค์ทรงมองเห็นความเดือดร้อนของราษฎรแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทรงช่วยเหลือราษฎรด้วยการรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่อไปราษฎรในพื้นที่ก็จะมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค สามารถทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่ มีกินมีใช้อย่างพอเพียงตามความต้องการของการดำรงชีวิตทุกคนจะไม่ลืมสิ่งดี ๆ เหล่านี้ และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณทุกคนจะขอทำความดีถวายแด่พระองค์ รัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 สืบไป" นายอุดม เด่นดวง กล่าว และเมื่อไม่นานมานี้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการฝายห้วยยางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนาเมือง อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ ทั้งนี้ เพื่อสนองพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงบำบัดทุกข์ช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน และพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานไว้ ให้บังเกิดความต่อเนื่องและสร้างประโยชน์สุขให้กับราษฎรได้อย่างยั่งยืนต่อไป จากการตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของโครงการฯ พบว่าการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำด้วยการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นมา ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 70 คน ร่วมกันบริหารการใช้น้ำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับทุกครัวเรือนได้อย่างทั่วถึง และเป็นไปตามพระราชประสงค์และพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ