โกลบอล บั๊กส์ เอเชีย สร้างโรงงานมาตรฐานสากล ผลิตผงโปรตีนจากจิ้งหรีด ส่งออกทั่วโลก หวัง ไทยเป็นแนวหน้าผู้ผลิตโปรตีนจากแมลง

ข่าวทั่วไป Tuesday March 13, 2018 15:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.-- บริษัท โกลบอล บั๊กส์ เอเชีย จำกัด โดย คุณกณิศนันท์ ธัญธิติวัฒน์ กรรมการบริหาร ได้จัดงาน เปิดตัว ผลิตภัณท์ ผงโปรตีนจากจิ้งหรีด (Cricket powder) ภายใต้ชื่อแบรนด์ เอ็นโต พาวเดอร์ (Entopowder) พร้อมเปิดตัวโรงงานผลิตที่อำเภอหัวหิน จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นโรงงานระบบปิดแบบครบวงจรทำตั้งแต่การอนุบาลจิ้งหรีดไปจนถึงขั้นตอนการใช้นวัตกรรมใหม่เพื่อแปรรูปให้เป็นผงโปรตีน และจิ้งหรีดอบแห้ง ให้ได้มาตรฐานระดับสากลเพื่อส่งขายไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู), แคนาดา, ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย โดยจิ้งหรีดนั้นเป็นแมลงที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ให้กำลังใจผู้บริโภคทั่วโลกให้บริโภคเพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่มีความสะดวกและยั่งยืน และFAO ประมาณการว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคนภายในปีพ. ศ. 2593 และด้วยจำนวนที่มากขึ้นนั้น ก็จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารได้จึงได้มีการรณรงค์ให้หันกลับมาพิจารณาการรับโปรตีนจากแมลงซึ่ง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อปัญหาระบบความสมดุลของธรรมชาติด้วย ที่สำคัญจิ้งหรีดมีโปรตีนสูงมาก และยังมีกรดอะมิโน, โอเมก้าบี, ไคติน ซึ่งเป็นสารเพื่อความงามอีกด้วย "กว่าจะมีวันนี้เราทำฟาร์มทดลองมาแล้ว 5 ปี โดยเริ่มมาตั้งแต่การทำแบบระบบเปิดเหมือนทั่วไป แต่เมื่อพบว่ามันยังไม่ได้เท่ากับมาตรฐานสากล จึงคิดว่าควรเพิ่มมาตรฐานให้กับฟาร์มจิ้งหรีด เพราะ เราตั้งเป้าว่าจะส่งออก โดยจะส่งออกในรูปของโปรตีนผงจากจิ้งหรีดและจิ้งหรีดอบทั้งตัว โดยใช้พันธุ์จิ้งหรีด ทองแดงลาย ที่เลี้ยงง่ายและให้ผลผลิตสูง ใช้ทรัพยากรน้อยมากในการผลิต ไม่ค่อยมีของเสีย มีมูลซึ่งเป็นผลพลอยได้ก็เอาไปแจกชาวบ้านทำปุ๋ย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เราทำก็คือ เราต้องควบคุมคุณภาพได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยการทำฟาร์มระบบปิด ควบคุมอุณภูมิ ความชื้น ความสะอาด ต่างๆ ความคิดนี้ตกผลึกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมื่อปี 2559 เราก็เริ่มทำฟาร์ม แต่เป็นฟาร์มทดลอง เลี้ยงแมลงและแปรรูปในโรงงานเดียวกัน หลังจากนั้นเราก็วิจัยและพัฒนามาโดยตลอด จนต้องการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อที่จะทำให้ใครก็ตามที่ก่อนหน้านี้บอกว่าฟาร์มของเมืองไทยไม่ได้มาตรฐานรู้ว่า สิ่งที่คุณพูดมามันผิดหมดเลย และที่สำคัญเราได้ผลการวิจัยจาก Edible insects: future prospects for food and feed security รองรับ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)" คุณกณิศนันท์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ในยุโรป โปรตีนจากจิ้งหรีดและแมลงต่างๆเป็นที่นิยมมาก เพราะโปรตีนจากเนื้อสัตว์ชนิดอื่นอาจจะทำลายวัฎจักรของธรรมชาติด้วยการเลี้ยงดูหรือการจับเอามา เช่นเนื้อจากสัตว์ใหญ่ หรือปลาทะเลน้ำลึก แต่การเลี้ยงจิ้งหรีดทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยมาก นอกจาก รักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว การทำฟาร์มจิ้งหรีดของตนก็จะช่วยให้แรงงานมีงานทำในถิ่นที่อาศัยไม่ต้องอพยพ ไปอยู่นอกพื้นที่อีกราว 1,800 คนอีกด้วย "ผู้ร่วมก่อตั้งของเราไม่ว่าจะเป็น คุณธนาภูมิ ม่วงเอี่ยม หรือ คุณ บู ริการ์ด เองเบิร์ก ต่างก็คลุกคลี กับการทำฟาร์มจิ้งหรีดมาก่อน รู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับจิ้งหรีด และ ตอนนี้ออร์เดอร์ ของเราก็เต็มไปจนถึงสิ้นปีแล้ว แต่ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกยังมีอีกมากประมาณ 1 แสนล้านตันต่อปี เราทำคนเดียวไม่ไหว เพราะฉะนั้นช่องว่างตรงนี้ก็จะเปิดโอกาสให้นักธุรกิจได้ลงมาทำด้วย เราไม่ถือว่าเป็นคู่แข่งเลย เพราะ เราคนเดียวไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่มากมายขนาดนี้ได้อยู่แล้ว เราต้องการเพื่อน ผู้จะร่วมทางไปกับเราให้ตลาดส่งออกจิ้งหรีดเป็นของคนไทย และเข้าครอบครองส่วนแบ่งตลาดโลก ตอนนี้เราทำได้ 12 ตันต่อปี สำหรับการแปรรูป โดยจิ้งหรีดตัวเป็น ๆ 4 กิโลกรัม จะนำไปแปรรูปเป็นผงโปรตีนได้ 1 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 1,500 บาท หลายคนบอกว่า โปรตีนจากจิ้งหรีดคืออาหารแห่งอนาคต แต่ขณะนี้นี่แหละคืออนาคตแล้ว เพราะคนทั่วโลกเขากินกันแล้ว บางแห่งอย่าง ฝรั่งเศส หรือ เดนมาร์กก็มีร้านอาหารที่ผลิตจากเครื่องปรุงแมลง เป็นหลัก อาทิ เส้นพาสต้า, เส้นสปาเกตตี้สด, ขนมปังบราวนี่ เป็นต้น มีผู้คนต่อคิวกันซื้อ ในเมืองไทยก็มีร้านลักษณะเดียวกันนี้แล้วเช่นกัน" คุณกณิศนันท์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ