ไทยเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนา “ถนนผสมยางพาราและศักยภาพการใช้ยาง” เชิญ ประเทศสมาชิก ANRPC ร่วมพัฒนางานวิจัย เพิ่มศักยภาพการใช้ยาง

ข่าวทั่วไป Wednesday March 14, 2018 12:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--การยางแห่งประเทศไทย ประเทศไทย โดยการยางแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "ถนนผสมยางพาราและศักยภาพการใช้ยาง" เชิญประเทศสมาชิกในสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) ร่วมสัมมนา เน้นสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกฯ เพื่อต่อยอด – พัฒนางานวิจัยถนนผสมยางพาราและเพิ่มศักยภาพการใช้ยาง นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง ในฐานะประธานเปิดงานสัมมนาฯ เผยว่า สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงการส่งเสริมการใช้ยางในกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำยางพาราไปใช้ในกิจกรรมหรืออุตสาหกรรมคมนาคม จึงมอบให้ประเทศไทย โดยการยางแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาเรื่อง ถนนผสมยางพาราและศักยภาพการใช้ยาง(Seminar on Economics of Rubberized Roads) ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การศึกษา วิจัย และพัฒนาถนนยางพารา ซึ่งเป็นการสัมมนาร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ ได้แก่ บังคลาเทศ ปาปัวนิวกีนี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย รวมถึงสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (IRRDB) ทั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ทูตพาณิชย์ สถานทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ด้วย นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาฯ ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความร่วมมือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ ผลักดันผลจากการนำงานวิจัยไปสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราในเชิงพาณิชย์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งนอกเหนือไปจากการแลกเปลี่ยนความรู้ ยังมีการศึกษาดูงาน การผลิตยาง master batch (ยางผสม) และโรงงานผสมยางพาราในเชิงพาณิชย์ ตลอดจน การเยี่ยมชนถนนยางพาราของกรมทางหลวง ทั้งหมดนี้เป็นการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ และเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น "การส่งเสริมและสนับสนุนการนำยางพารามาผสมเพื่อทำถนน เป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศและโลกให้สูงขึ้น ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ช่วยส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐด้วย ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ หากทุกประเทศต่างร่วมมือกันพัฒนางานวิจัย ให้สามารถเกิดการนำไปใช้ได้จริง จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพการทำสวนยาง การแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมยาง ตลอดจนวงการยางพาราทั้งปัจจุบันและในอนาคต" รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ