วิศวฯ จุฬาฯ ติดอาวุธครูไทยยุค 4.0 จับมือ เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น พัฒนาหลักสูตร เพื่อเพิ่มศักยภาพครูสู่โลกยุคดิจิทัล

ข่าวทั่วไป Tuesday March 20, 2018 11:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรครูทั่วประเทศด้าน Digital Literacy ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกสู่ยุคดิจิทัล สืบเนื่องจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินงานโครงการบริการวิชาการ และเป็นสถาบันที่เน้นการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ผลิตงานวิจัย ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย งานบริการวิชาการ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายในการพัฒนาการเรียนรู้และระบบการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มุ่งทำงานด้านการศึกษาของประเทศไทย ต้องการช่วยลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย โดยการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้แบบผสมผสาน เป็นเครื่องมือช่วยครูจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ให้นักเรียนมีความเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น และเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ได้ตกลงร่วมกันในความร่วมมือเพื่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาหลักสูตร และเปลี่ยนแปลงการศึกษาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมไทย โดย รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงแนวคิดของความร่วมมือว่า "เนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเชิงของเทคโนโลยี จากสมัยก่อนที่เทคโนโลยีหมายถึงเทคโนโลยีโดยรวม แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีนั้นได้เริ่มมีการแยกคำจำกัดความ โดยมีทั้งเทคโนโลยีเชิงกายภาพ เทคโนโลยีทั่วๆไป และสุดท้ายคือเทคโนโลยีดิจิทัล หรือการเชื่อมต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์ ผ่านทางซอฟต์แวร์ โซเชียลมีเดีย ซึ่งจะเป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์ทั้งหมด และสามารถทำให้ทุกอย่างบนโลกเชื่อมเข้าหากันอย่างง่ายดาย โลกดิจิทัลจึงเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เราก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยที่ผ่านมาทั้ง 3 ยุคนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นผู้ตามมาโดยตลอด ซึ่งในยุคที่ 4 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ก็คือการปฏิวัติสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งหากเราไม่รีบเตรียมทรัพยากรและบุคลากรให้พร้อม ประเทศเราก็จะเป็นประเทศที่เป็นผู้ตามอย่างเดิมที่เคยเป็นมา โดยทางคณะจึงได้มีแนวคิดอยู่เสมอที่จะเปลี่ยนสถานะประเทศไทยให้กลายเป็นผู้นำแห่งยุค" โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการสร้างฐานความรู้ในเรื่องดิจิทัลทั้งหมด เพื่อนำมาเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงการสื่อสารและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน โดยมุ่งเน้นที่ครูเป็นอันดับแรก ด้วยความคาดหวังว่าครูจะนำหลักและความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดสู่เด็กๆ ทั้งประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มระดับของ Digital Literacy หรือความรู้ทางด้านการใช้คอมพิวเตอร์ให้ทั่วถึงกันซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของโครงการ โดยหลักสูตรที่นำมาใช้อบรม จะมีตั้งแต่การใช้ซอฟต์แวร์ การเข้าใจ Algorithm หรือกระบวนการแก้ปัญหาแบบเป็นขั้นตอน การรู้จักภาษาของคอมพิวเตอร์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังในปัจจุบัน ภาษาคอมพิวเตอร์ที่นิยมใช้ทั่วโลกคือภาษา Python ซึ่ง Python เองก็จะเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่นำมาใช้อบรมครูในโครงการนี้ด้วย โดยจุดเด่นของโครงการอยู่ที่การใช้ระบบ E-Learning มาใช้เป็นสื่อการอบรม ผ่าน Platform กลางที่ชื่อว่า TrainKru (เทรนครู) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ซึ่งจะเปิดให้เริ่มลงทะเบียนอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2561 เพื่อให้ครูที่อยู่ไกลสามารถเรียนได้จากทุกที่ทุกเวลา และจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ครูมีโอกาสได้พัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองไปด้วย และตามด้วยการ Workshop เพื่อให้ครูได้ทดสอบตนเองว่าสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดต่อได้จริงหรือไม่ โดยคาดว่าโครงการนี้จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเทรนด์ 4.0 ที่กำลังอยู่ในกระแสรวมถึงการเปลี่ยนหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นเสมือนแรงกระตุ้นให้ครูทั่วประเทศต่างต้องการหาความรู้และเครื่องมือมาพัฒนาตนเองอยู่เสมอ อีกทั้งจะยังมีการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมผ่านช่องทางของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ตรงไปยังโรงเรียนในเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อให้เกิดความรับรู้ที่ทั่วถึง" ในด้านของ นายธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ได้กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการว่า "โจทย์ที่ประเทศเรามีคือการ Transformation หรือทำอย่างไรให้ประเทศก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มตัวและมีประสิทธิภาพ โดย Digital Literacy นั้นถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก ซึ่งในปัจจุบันจำนวนครูทั่วประเทศมีอยู่กว่า 400,000 คน และอ้างอิงตามข้อมูลของ สสวท. หรือสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพบว่า ยังคงมีครูที่ต้องได้รับการพัฒนาเรื่อง Digital Literacy อีกกว่า 50,000 คน โดยใน 2 ปีตามความร่วมมือนี้ มีการตั้งเป้าว่าจะมีครูที่ได้รับการพัฒนาตามโครงการหลักหมื่นคนขึ้นไป เพื่อเป็นต้นแบบและจะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงและยั่งยืนแก่เด็กๆในที่สุด" และ ผศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้ายในฐานะวิทยากรผู้อบรมของโครงการว่า "การอบรมในโครงการนี้จะเป็นเสมือนการติดอาวุธให้กับครูไทยให้ได้พัฒนาตนเองในสาขาอาชีพของตน ทั้งในเชิงของการเพิ่มความรู้ และการได้มาเห็นแนวคิดและวิธีการสอนของผู้อื่น ซึ่งสามารถนำข้อดีไปปรับใช้ได้ เพราะอนาคตของเด็กทุกคนจะเป็นอย่างไร ครูถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำหนดอนาคตเหล่านั้น" หากคุณครูต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรอบรมพัฒนาครู ที่ วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับ เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จัดอบรม สามารถติดตามข่าวสารและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.trainkru.net หรือโทร 02-2314569, Line@ : @trainkru

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ