บริติช เคานซิล มอบรางวัลศิษย์เก่าUK ดีเด่นด้านอาชีพ-สร้างประโยชน์ต่อสังคม

ข่าวทั่วไป Tuesday March 20, 2018 15:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--บริติช เคานซิล ประเทศไทย คนเก่งจะยิ่งเก่งขึ้น เมื่อได้รับการพัฒนาตามศักยภาพ ความชอบ ความถนัดของแต่ละคน "บริติช เคานซิล ประเทศไทย" หนึ่งในองค์กรที่ส่งเสริมการจัดการศึกษาของไทย โดยเฉพาะการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เพื่อให้เด็กไทยได้มีทักษะด้านภาษา อีกทั้งได้มีการจัดเวทีการแข่งขันมากมายให้เยาวชนไทยเข้าร่วม และล่าสุดได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ กรุงเทพฯ นิตยสาร PRESTIGE นิตยสาร Hello! และกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาประเทศสหราชอาณาจักร จัดงาน ประกาศผลรางวัลศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่น "ALUMNI AWARDS 2018" (อะลัม-ไน อวอร์ด 2018) เพื่อเป็นเกียรติแก่ศิษย์เก่าสหราชอาณาจักร ในฐานะบุคคลที่ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ อาทิ นักธุรกิจ นักวิชาการและผู้นำชุมชน มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า รางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จของศิษย์เก่า และระบบการศึกษาอันยาวนานของสหราชอาณาจักร โดยจัดติดต่อกันมาเป็นเวลา 4 ปีแล้วทั่วโลก และสำหรับประเทศไทยจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้ารับรางวัลใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาผู้ประสบความสำเร็จด้านอาชีพ มอบแก่ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบของผู้นำยุคใหม่ โดยเป็นบุคคลที่สามารถแสดงถึงความสำเร็จในสาขาอาชีพเฉพาะ หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรมแก่สาขาอาชีพและสังคม สาขาผู้ประกอบการ มอบแก่ศิษย์เก่านักคิด ผู้รังสรรค์นวัตกรรมและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่มีแนวทางการประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน และสาขาผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม มอบแก่ศิษย์เก่าผู้มีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้สังคม เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อื่น โดยครั้งนี้ยังมีรางวัลพิเศษศิษย์เก่าขวัญใจมหาชน ซึ่งมอบให้กับศิษย์เก่าที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากมหาชน อีกด้วย "เรามองถึงความสัมพันธ์อันดีที่เชื่อมโยงกัน ศิษย์เก่าที่ได้ไปศึกษายังสหราชอาณาจักร เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์หรือความรู้ที่ได้รับมาจากการไปศึกษา สามารถนำสิ่งที่ดีมาส่งต่อให้กับประเทศไทยและสังคมได้ นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ สังคมแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงในเรื่องของการศึกษาด้วย และจาก 75 ใบสมัครที่ได้มา ทางอังกฤษและทางประเทศไทยช่วยกันคัดเลือก จนเหลือ 12 คนสุดท้าย และใน 12 คนสุดท้ายนี้ ยังมีการสัมภาษณ์ต่อเป็นรายบุคคลโดยท่านเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย และจาก บริติช เคานซิล ประเทศไทย ที่พิจารณาถึงการนำประสบการณ์และความรู้จากการไปศึกษาจากประเทศอังกฤษ เอามาสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง สังคม และประเทศชาติอย่างไร เพราะฉะนั้นแล้วคนที่ถูกคัดเลือกจนมาเข้ารอบ12คนสุดท้ายจะเป็นทูตด้านการศึกษาระหว่าง 2 ประเทศด้วย" มร.แอนดรูว์ กล่าว สำหรับผลรางวัลศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่น "ALUMNI AWARDS 2018" สาขา ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ได้แก่ รศ.ดร. เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ หรือ Smart Cities Research Center (SCRC) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศิษย์เก่า สหราชอาณาจักร เป็นนักวิชาการที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกสาขาการจัดการการคมนาคม โดยมีประสบการณ์การทำงานในประเทศต่าง ๆ อาทิ สหราชอาณาจักร ฮ่องกง และไทย โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทย เช่น ระบบการเดินรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร ระบบนำทาง GPS เสริมสร้างถนนปลอดภัย และระบบรถแท๊กซี่ All-Thai อีกทั้งยังได้รับเชิญให้เป็นคณะกรรมการในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐมากมาย และเป็นผู้นำในการใช้ระบบ Taxi OK เพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร และเป็นบุคคลตัวอย่างในการใช้ความรู้วิชาการและภาวะผู้นำ เพื่อสร้างนโยบายและการใช้เทคโนโลยีในประเทศ รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ หรือ Smart Cities Research Center (SCRC) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศิษย์เก่าสหราชอาณาจักร กล่าวว่า หลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธา ก็ได้มีโอกาสไปเรียนต่อปริญญาโท และเอก ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งการไปใช้ชีวิตที่นั้นตลอดระยะเวลา 7 ปี เป็นเวลาที่ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ในด้านต่างๆ ทั้งวิชาการ สังคม และวัฒนธรรม นำไปสู่การสร้างรากฐานทางอาชีพที่สำคัญ การเรียนในสหราชอาณาจักรทำให้ได้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และโอกาสในการทำงานร่วมกับนักวิชาการอื่นๆ พร้อมเรียนรู้ในวัฒนธรรมที่หลากหลาย นอกจากนั้น ระบบการเรียนปริญญาเอกของสหราชอาณาจักรจะกระตุ้นให้ผู้เรียนต้องใช้ทักษะคิดวิเคราะห์และนำวิธีการที่สร้างสรรค์ เช่น นวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้แก้โจทย์วิจัย หรือแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้ "ตอนนี้ เรื่องบางเรื่องประเทศไทยยังไม่มีองค์ความรู้ในระดับที่เป็นชั้นนำของโลก การไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ทำให้ได้เจอเพื่อนหลายประเทศมาก เป็นการเปิดมิติที่เราไม่เคยเห็น และได้เห็นมุมมองที่สามารถนำไปปรับใช้ในเมืองไทย บทบาทของUK ในการร่วมพัฒนาคนเพื่อมาพัฒนาประเทศไทย ซึ่งผมเคยได้รับทุนตอนเรียนปริญญาโท จากบริติช เคานซิล ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสได้เรียนรู้และกลับมาทำงานที่เมืองไทย และมาพัฒนาประเทศไทยได้" รศ.ดร.เอกชัย กล่าว รางวัลสาขา ผู้ประสบความสำเร็จด้านความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือ ด้านอาชีพ ได้แก่ ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และเป็นนักวิจัย (Principal Researcher) ของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) โดยเป็นทีมค้นคว้าและพัฒนานาโนเทคโนโลยี เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ ก่อให้เกิดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศไทย ปัจจุบัน "ดร.อรุชา" ยังมีหน้าที่หลักในการสร้างบุคลากร เด็กรุ่นใหม่สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ นาโนเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลที่สามารถผลิต ใช้นาโนเทคโนโลยีในการช่วยเหลือ เผยแพร่สู่อุตสาหกรรมต่างๆได้ เป็นการยกระดับเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศต่อไป ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศิษย์เก่าสหราชอาณาจักร กล่าวว่า การไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ได้สิ่งที่ดีๆ กลับมาเยอะมาก และมีส่วนช่วยในเรื่องของการทำงานหลายเรื่อง หลักๆ คือ เรื่องของระบบการคิดที่เหมาะสมกับการทำวิจัย และการประกอบอาชีพนักวิจัย การคิดอย่างเป็นระบบ และการที่จะสามารถดำเนินการวิจัยได้ด้วยตนเอง รวมถึงหลังจากที่ดำเนินด้วยตนเองแล้วยังขยายไปเป็น Team Work รวมถึง Connection ที่มีจากต่างประเทศช่วยทำให้ปัจจุบัน เราสามารถขยายงานได้ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่รวมถึงในต่างประเทศด้วย "นาโนเทคโนโลยีที่เราได้เรียนมาจากประสบการณ์มากมายระหว่างการศึกษาในประเทศสหราชอาณาจักร ทำให้สามารถทำงานร่วมกับนักวิจัย เพื่อช่วยพัฒนางานวิจัย อนุภาคนาโนเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม เดิมอุตสาหกรรมไทยซื้อเทคโนโลยีผสมผสานกับองค์ความรู้ที่มี แต่ตอนนี้มีการสร้างเทคโนโลยี และรู้จักการนำเทคโนโลยี อนุภาคนาโนมาใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์ต่างๆ นาโนเทคโนโลยี สามารถใช้ได้ทุกอุตสาหกรรม แต่อาจจะใช้ในระดับที่แตกต่างกัน เป็นไปตามความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม " ดร.อุรชา กล่าว รางวัลสาขาผู้ประกอบการ ได้แก่ คุณอาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ Socialgiver.com หนึ่งในวิสาหกิจเพื่อสังคมอันดับต้น ๆ ของไทย ที่มีบทบาทในการช่วยเหลือแบรนด์ต่าง ๆ กว่า 180 รายให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้วยช่องทางผ่าน Socialgiver.com ที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2558 ลูกค้าที่มาใช้บริการจะสามารถช่วยเหลือและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอีกกว่า 25,000 คน สนับสนุนโครงการด้านสังคมอื่นๆ อีกกว่า 32 โครงการ ในประเทศไทย เนปาล ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ และบังคลาเทศ และยังมีโครงการที่จะขยายออกไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก คุณอาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ Socialgiver.com ศิษย์เก่าสหราชอาณาจักร กล่าวว่า การเลือกไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ส่วนหนึ่งมาจากครอบครัว คุณแม่เชื่อมั่นในระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษ และตัวผมเองก็ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมด้วย ซึ่งเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ผมเลือกประเทศอังกฤษที่นี่ใช้เวลาเรียนปริญญาตรีแค่ 3 ปี ซึ่งผมเป็นคนอยากทำงานมาตั้งแต่เด็ก อยากจะเรียนจบและอยากจะเริ่มทำงานเร็วๆ จึงเลือกเรียนที่นี่ โดยเรียนเกี่ยวกับเมเนจเม้นท์ ผมอยากเป็น อองเทรอเพรอเนอร์ (Entrepreneur) หรือ ผู้ประกอบการ แต่เมื่อเรียนจบมากลายเป็นไปทำงานในภาคสังคม ทำงานภาคสังคมได้ช่วงหนึ่งจึงเจอโมเดลในเรื่อง โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ (Social Enterprise) กิจการเพื่อสังคม เลยใช้ 2 อย่างมารวมกัน คือประสบการณ์ด้านโซเชียล และ มองถึงปัญหาที่ภาคสังคมเจอมีอะไร เอามารวมและนำประยุกต์กับสิ่งที่ได้ไปศึกษามา จึงเกิดมาเป็นสิ่งที่ดำเนินการอยู่ในตอนนี้ "จากประสบการณ์ในการไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่อังกฤษ ผมสามารถนำมาต่อยอดในเรื่องของการสร้างธุรกิจ รวมทั้งสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ มุมมององค์รวมของสังคมและสถานะของโลก รวมถึงบทบาทของคนในสังคมด้วย" คุณอาชว์ กล่าว อย่างไรก็ตาม ภายในงานยังมีศิษย์เก่าดีเด่นแห่ง UK ได้แก่ ครูลูกกอล์ฟ นายคณาธิป สุนทรรักษ์ ผู้ก่อตั้งสถาบันANGKRIZ , ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หนึ่งในนักสร้างแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย, คุณอภินรา ศรีกาญจนา เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง U Drink I Drive Thailand ซึ่งเป็นบริษัทอันดับหนึ่งที่ให้บริการพนักงานขับรถ เพื่อแก้ปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ อันเป็นปัจจัยการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศ, และผศ.ดร.กรรณิการ์ ลีลาปัญญาเลิศ เป็นอาจารย์ประจำโครงการปริญญาเอก วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นบุคคลที่อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือชุมชนห่างไกลในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ