4 ไอเดียสุดครีเอทีฟ เด็กไทยใช้ “อาหาร” ยกระดับสังคม

ข่าวทั่วไป Wednesday April 11, 2018 13:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันเยาวนชนคนรุ่นใหม่มีความหลากหลายในการใช้ชีวิตอย่างมาก และมีรูปแบบการคิดที่แตกต่างและสร้างสรรค์ เมื่อชื่นชอบหรือสนใจสิ่งใดแล้วจะมุ่งทำสิ่งนั้นอย่างสุดความสามารถ ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสิ่งนั้นและใส่ความเป็นตัวตนลงไปในกิจกรรมที่ทำ แม้ในบางกิจกรรมที่ดูเหมือนจะธรรมดาแต่เมื่อผ่านความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนรุ่นใหม่แล้วก็สามารถกลายเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าและน่าสนใจได้ ซึ่งสิ่งที่เยาวชนสนใจนั้นถ้ากลับกลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำมาพัฒนาสังคมได้ จะเป็นแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ของสังคมในการพัฒนาประเทศชาติอย่างทวีคูณ - พระสงฆ์อ้วนลงพุง เป็นโรคเบาหวาน แก้ด้วยการฉันอาหารที่ถูกโภชนาการ นายฉัตรชัย แว่นตา ตัวแทนจากกลุ่มนวัตกรรมทางสังคมฝีมือเยาวชน "เสริมสร้างสุขภาวะพระสงฆ์" กล่าวว่า ปัญหาด้านสุขภาพในพระภิกษุสงฆ์เป็นปัญหาที่สังคมควรให้ความตระหนัก จากผลสำรวจพระสงฆ์ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 300,000 รูป มีน้ำหนักเกินมาตรฐานกว่าร้อยละ 45 และโรคเบาหวานเป็นโรคที่พบมากในพระสงฆ์ จาก 2 สาเหตุ คือตามพระวินัยพระสงฆ์ไม่สามารถออกกำลังกายแบบคนทั่วไปได้ และพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารได้ โครงการนี้จึงเป็นการสร้างความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดให้กับชาวบ้านและรณรงค์ให้ใส่บาตรอาหารคลีน คือ ห้ามทอด ห้ามหวาน ห้ามกะทิ โดยได้รับการร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น สาธารณสุขจังหวัด จากการวัดผลหลังการดำเนินโครงการพบว่า พระสงฆ์ มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงและมีสุขภาพที่ดีขึ้น จากการดำเนินโครงการครั้งนี้นอกจากพระสงฆ์ที่มีสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว ชาวบ้านก็มีสุขภาพที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน - คู่มือ "บันไดประยุกต์" สุดล้ำค่า เปลี่ยนวัตถุดิบธรรมดาให้เป็นอาหารฟิวชั่นสุดว้าว นายโมไนย กระจ่างพัฒน์ ตัวแทนจากกลุ่มนวัตกรรมทางสังคมฝีมือเยาวชน "ฟิวชั่นฟู๊ด ออฟ ปทุมธานี" กล่าวว่า จังหวัดปทุมธานีมีวัตถุดิบท้องถิ่นที่โดดเด่นและหาได้ง่าย คือ กล้วยหอมทอง เห็ดนางฟ้าภูฏานและบัวหลวง แต่กลับพบว่าวัตถุดิบเหล่านี้ไม่ถูกนำไปประกอบอาหารมากนัก โดยแนวคิดของโครงการนี้ไม่ได้เป็นเพียงการให้คนชุมชนเห็นความสำคัญของวัตถุดิบท้องถิ่นเพียงเท่านั้น แต่ต้องการให้เกิดความยั่งยืนในการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นประกอบอาหารด้วย โครงการนี้จึงทำการศึกษาอาหารดั้งเดิมเพื่อหาองค์ความรู้ในการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาต่อยอดและดัดแปลงเป็นอาหารฟิวชั่นได้ โดยนำองค์ความรู้ดังกล่าวจัดทำเป็นคู่มือ "บันไดประยุกต์" แจกให้กับโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้การทำอาหารฟิวชั่นจากวัตถุดิบท้องถิ่น และสิ่งที่ได้รับจากโครงการนี้คือความยั่งยืนของการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในการประกอบอาหารและเป็นการสร้างประสบการณ์ที่สามารถต่อยอดไปเป็นอาชีพให้กับเด็กนักเรียนได้ในอนาคต - มากกว่าสร้างรายจากอาหารออร์แกนิค คือสมาชิกในชุมชนต้องเกิดการพัฒนา นางสาวชลดา ดอนชมภู ตัวแทนจากกลุ่มนวัตกรรมทางสังคมฝีมือเยาวชน "สวนผัก ยูเนียน" กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสการรับประทานอาหารออร์แกนิคเติบโตมากและด้วยพื้นที่ของชุมชนมีความเหมาะสมกับการปลูกผักสวนครัว จึงมีความคิดอยากสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่หากนำพื้นที่ดังกล่าวทำเป็นเพียงสวนผักปลูกเพื่อขายเพียงอย่างเดียว ชุมชนก็จำได้เพียงเงินแต่ไม่เกิดการพัฒนา จึงคิดโครงการนี้ขึ้นเพื่อให้ชุมชนอะไรได้มากกว่ารายได้ จึงการสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้พ่อแม่พาลูกหลานมาเรียนรู้การปลูกผักและเลี้ยงปลาดุกเพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์การใช้ชีวิต และเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้คนในชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ผลที่ได้รับจากโครงการนี้นอกจากคนในชุมชนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ลดความขัดแย้งและมีผักออร์แกนิคปลอดสารพิษไว้รับประทานแล้ว ยังเป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับเด็ก ๆ ในชุมชนได้มีประสบการณ์ในใช้ชีวิตด้วย - ข้าวแคบอาหารวัฒนธรรมทั้งอร่อย ทั้งสำคัญ ต้องไม่สูญพันธุ์ในยุคของเรา นางสาวณัฐริกา เปี้ยดี ตัวแทนจากกลุ่มนวัตกรรมทางสังคมฝีมือเยาวชน "ข้าวแคบกินกับอะไรก็อร่อย" กล่าวว่า ข้าวแคบเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อมายาวนานของชาวอุตรดิตถ์ เพราะที่นี่เป็นต้นกำเนิดของข้าวแคบ แต่ในปัจจุบันข้าวแคบกำลังจะหายสาบสูญไป เนื่องจากข้าวแคบเป็นที่รู้จักเฉพาะในจังหวัดอุตรดิตถ์และคนรุ่นใหม่ในอุตรดิตถ์เองเริ่มไม่ให้ความสำคัญกับข้าวแคบ จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ข้าวแคบที่เปรียบเสมือนวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยทำการศึกษาเมนูที่กินกับข้าวแคบแล้วอร่อย จากนั้นนำเมนูดังกล่าวกระจายไปตามร้านอาหารและจัดตั้งบูทตามเทศกาลต่าง ๆ ในจังหวัด เพื่อทำให้ข้าวแคบเป็นที่รู้จักมากขึ้น ผลที่ได้รับคือปัจจุบันข้าวแคบเป็นโอทอป (OTOP) ประจำตำบลลับแลและถูกนำไปขายทั่วประเทศ มากไปกว่านั้นมีการส่งออกข้าวแคบไปขายต่างประเทศอีกด้วย ผลการดำเนินการโครงการนี้นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างข้าวแคบแล้ว ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและครัวเรือนที่ทำข้าวแคบขายกว่า 2 เท่า อีกด้วย ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชานนท์ โกมลมาลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้จัดการโครงการ "มหกรรมเยาวชนนวัตกรรมทางสังคม" กล่าวว่า ผลผลิตความคิดสร้างสรรค์ดังกล่าว เกิดจากพลังของเยาวชนรุ่นใหม่ ที่สามารถนำสิ่งรอบกายไปประยุกต์ใช้และต่อยอดในแง่มุมต่างๆ ผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในหลากหลายแง่มุม จากโครงการ "มหกรรมเยาวชนนวัตกรรมทางสังคม" (Social Innovation and Youth Expo) ซึ่งเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเป็นโครงการที่เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนนำความสนใจของตนเองนำมาใช้ในการสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความสามารถในด้านทักษะการคิดระดับสูง ทัศนคติทางบวกและทักษะในการปฏิบัติงานทางด้านนวัตกรรมทางสังคม เพื่อนำไปใช้พัฒนาชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต นอกจากโครงการทั้ง 4 กลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีโครงการอื่นที่น่าสนใจอีกมาก เช่น โครงการขยะขยับเท่ากับรายได้ โครงการทิ้งฉันลงทิ้งฉันเลย และโครงการหลอดดูดรังสรรค์ร่วมกันปันสุข เป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อจัดการขยะอย่างยั่งยืน เป็นต้น หลังจากการดำเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว ผลตอบรับของแต่ละชุมชนเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ละชุมชนมีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และโครงการเหล่านี้เป็นเพียงการนำร่องเท่านั้น เพราะในอนาคตจะมีการต่อยอดโครงการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จากการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชานนท์ กล่าวทิ้งท้าย สำหรับผู้ที่สนใจในโครงการหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มธ. โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ