วธ.ถกผู้ประกอบการผลิตภาพยนตร์-ละครส่งเสริมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แนะตั้งศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์ฯ จัดตั้งสมาคมผู้เขียนนวนิยาย-บทภาพยนตร์ –ละครโทรทัศน์ เตรียมจัดทำร่างแผนส่งเสริมฯ เสนอรัฐบาล

ข่าวทั่วไป Thursday April 12, 2018 13:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 11 เมษายน 2561 ที่ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนาผู้ประกอบการภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมภาพยนตร์และละครส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้เขียนบท ผู้ผลิต ผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้เผยแพร่ ผู้จัดจำหน่าย นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการภาพยนตร์และละครโทรทัศน์กว่า 120 คน เข้าร่วม ว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) หาแนวทางสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และผู้ผลิตในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่ในการใช้วัฒนธรรมสร้างภาพลักษณ์และรายได้ให้แก่ประเทศ รวมถึง วธ.มีนโยบายส่งเสริมการผลิตละครและภาพยนตร์ของไทยที่มีคุณภาพและมีเนื้อหาแสดงถึงความรักชาติ วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของไทยในเชิงสร้างสรรค์ และจะผลักดันการสร้างตลาดและเผยแพร่สื่อคุณภาพออกสู่เวทีนานาชาติด้วย ซึ่งละคร "บุพเพสันนิวาส" นับเป็นตัวอย่างที่ดีของละครไทยที่สามารถสอดแทรกและเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต อาหาร ภาษา และการแต่งกายของไทยไว้ได้อย่างครบถ้วน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ อาทิ 1.จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมเพื่อการสร้างสรรค์สื่อไทย โดยรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้บริการ ให้คำแนะนำปรึกษา และเป็นศูนย์กลางด้านองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ และสื่ออื่นๆ 2.ให้มีการจัดตั้งเป็นสมาคมผู้เขียนนวนิยายและบทภาพยนตร์ บทละครโทรทัศน์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิกสมาคม และขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ 3.มีการวิจัยองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้เขียนบทภาพยนตร์ บทโทรทัศน์ รวมทั้งจัดสวัสดิการสนับสนุนเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4.กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการให้ทุนสนับสนุนทุนการผลิตที่ชัดเจนโดยเฉพาะกองทุนต่างๆ ที่จะให้การสนับสนุน และควรมีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์มาเป็นที่ปรึกษา หรือร่วมบริหารจัดการโครงการต่างๆ โดยศึกษาการดำเนินงานกองทุนของต่างประเทศนำมาประยุกต์ใช้ในไทยด้วย 5.พิจารณาแนวทางสนับสนุนองค์ความรู้และทรัพยากรด้านวัฒนธรรมแก่ผู้ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ อาทิ การใช้พื้นที่ การให้คำแนะนำทางวิชาการ เป็นต้น 6.ส่งเสริมบทบาทของจังหวัด ในการสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์/ละครโทรทัศน์ เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดต่างๆ และ7.ส่งเสริมการร่วมลงทุนผลิตกับต่างประเทศในระดับนานาชาติ และสนับสนุนช่องทางการเผยแพร่และจำหน่ายภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ให้มากยิ่งขึ้น เช่น การจัดโรดโชว์ในงานเทศกาลหรือตลาดภาพยนตร์นานาชาติ การเผยแพร่ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ทั้งนี้ วธ.จะนำข้อเสนอแนะเหล่านี้มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา เพื่อจัดทำเป็นร่างแผนปฏิบัติการสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติและคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ