นักวิชาการเกษตรชี้ข้อเท็จจริง พาราควอต ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของเกษตรกรไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday April 17, 2018 16:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ปัจจุบัน สารพาราควอต ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในกว่า 80 ประเทศ รวมทั้งในอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโนนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียนั้นเคยยกเลิกใช้ แต่รัฐบาลได้มีการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนกลับมาใช้ได้อีก สำหรับประเทศไทย มีการใช้พาราควอต ในพืชไร่ ไม้ผล พืชทั่วไป ใช้ฉีดลงไปตรงๆ ที่หญ้า ไม่ได้ฉีดลงบนพืชหลัก พาราควอตยังคงเป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมกับการเกษตรบริบทของประเทศไทย ดีที่สุด ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า การใช้สารกำจัดวัชพืชทางการเกษตรของไทย ปัจจุบัน มีใช้อยู่หลายชนิด ขึ้นอยู่กับประเภทของวัชพืช ขนาดต้นวัชพืช ชนิดของพืชประธาน เป็นต้น โดย สารพาราควอต มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ให้ผลดีกว่าสารชนิดอื่นๆ ทั้งในด้านการออกฤทธิ์ 1) เห็นผลในเวลา 2-3 ชั่วโมงหลังฉีดพ่น ออกฤทธิ์เฉพาะส่วนสีเขียวที่ได้รับสารเท่านั้น เช่น หากฉีดโดนใบ ก็จะทำให้ใบไหม้เท่านั้น เกษตรกรจึงเรียกพาราควอตว่า ยาเผาไหม้ ไม่ดูดซึมเข้าราก หรือต้นพืช ปลอดภัยต่อพืชประธาน หรือ พืชที่เกษตรกรเพาะปลูก 2) คงทนต่อการชะล้างด้วยน้ำฝน ฉีดได้แม้ว่าฝนกำลังจะตก จึงเหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก เช่นภาคใต้ของไทย 3) เป็นสารเคมีประจุบวก 2 ขั้ว ที่จะยึดกับดินซึ่งเป็นประจุลบอย่างเหนียวแน่น ไม่หลุดออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม การสกัดพาราควอตจากดินต้องทำในห้องปฏิบัติการ โดยต้มด้วยกรดเข้มข้นนาน 5 ชั่วโมง ส่วนการใช้เครื่องจักรมาช่วยในการกำจัดวัชพืชนั้น มีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งในเรื่องราคาต้นทุนของอุปกรณ์สูง เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อมาครอบครองได้ และไม่สามารถใช้ได้ในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ รวมทั้ง การใช้เครื่องจักร อาจทำให้เกิดความเสียหายกับพืชประธานได้ นอกจากนี้ การใช้พืชคลุมดินในการบริหารปัญหาวัชพืชนั้น เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เกษตรกรไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ เนื่องจาก การใช้พืชคลุมดินนั้น เป็นการเพิ่มต้นทุนและเวลาในการทำงาน อาทิ ค่าเมล็ดพันธ์พืชคลุมดิน ค่าสารกำจัดวัชพืช ค่าปลูกพืชคลุมดิน ค่าไถกลบพืชคลุมดิน คุณสมบัติเฉพาะของพาราควอตเป็นข้อชี้บ่งที่ชัดเจนว่า ไกลโฟเสต และ กลูโฟซิเนต ก็ไม่สามารถใช้ทดแทนพาราควอตในพืชไร่ที่สำคัญเช่น อ้อย ข้าวโพด และมันสำปะหลังได้ ดังนั้น จึงไม่มีแนวทางใดที่จะสามารถนำมาใช้ทดแทนสารพาราควอต ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และต้นทุนได้ ณ ปัจจุบัน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสารพาราควอตนั้น มีข้อกล่าวอ้างที่ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มากมาย อาทิ พาราควอตทำให้ดินแข็ง ซึ่งไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจาก คุณสมบัติของพาราควอตทำลายเฉพาะส่วนที่เป็นสีเขียวของวัชพืชเหนือดิน ไม่ทำลายระบบรากใต้ดิน ในทางกลับกัน การใช้พาราควอตมีส่วนช่วยในการรักษาหน้าดินและลดการสูญเสียน้ำในดิน เพราะซากวัชพืชจะช่วยคลุมดินไว้ ขณะเดียวกัน พาราควอตไม่สะสมในดิน เนื่องจากพาราควอต จะสลายตัวโดยแสงและถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดิน หากมีการสะสมในดินจริง วัชพืชคงไม่เติบโตขึ้นในพื้นที่เดิมที่เคยใช้สารพาราควอต เช่นเดียวกัน มีความเข้าใจผิดว่า พาราควอต ปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ ทำให้น้ำนั้นเป็นอันตราย แต่ความจริงแล้ว พาราควอตไม่เจือปนในน้ำ เพราะจะถูกดูดยึดไว้กับอนุภาคดิน และตะกอนดินในน้ำและถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในที่สุด ท้ายที่สุด ยังคงมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในอีกหลายประการเกี่ยวกับสารพาราควอตกับการเกษตร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการใช้พาราควอตในนาข้าว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีการใช้สารดังกล่าวในแปลงปลูก เกษตรกรใช้กำจัดวัชพืชบริเวณเพียงคันนาเท่านั้น พาราควอต เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตที่จะช่วยในการพัฒนาศักยภาพการผลิต ทำให้ประเทศไทยสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในตลาดโลกมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ตามนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันให้ภาคเกษตรกรไทยสู่ เกษตร 4.0 รวมทั้งการผลักดันให้ประเทศไทย เป็น ครัวของโลก สิ่งนี้ จะเป็นความฝัน หรือ ความจริง คงต้องฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ