“ประเวนอย อะลาม เทียะกี่” เล่นสงกรานต์ไม่เปียกน้ำ สืบสานการแห่หงส์ – ธงตะขาบ เปิดบ่อนเล่นสะบ้าที่คุ้งบางกะเจ้า

ข่าวท่องเที่ยว Monday April 23, 2018 14:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--อพท. ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หลายคนมักจะนึกถึงการสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่และเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน แต่ใน ประเพณีสงกรานต์ของชาวรามัญ หรือ กลุ่มชาติพันธ์มอญที่คุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ ๖ – ๑๕ เมษายน ๒๕๖๑ เป็นประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิม จะเล่นสงกรานต์แบบไม่เปียกน้ำ ซึ่งหน่วยงาน ห้างร้านและประชาชน พร้อมใจกันจัดงาน "หรรษารามัญ" เพื่อระดมทุนสำหรับการจัดงาน นอกจากนี้ยังมีการทำความสะอาดบ้านเรือน ร่วมกันกวนขนมกาละแม(กวานฮะกอ) สวมใส่เสื้อผ้าตามประเพณี ผู้ชายจะนุ่งผ้าม่วงลอยชายมีผ้าพาดบ่า ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าถุงใส่เสื้อแขนกระบอกมีผ้าสไบคล้องคอ โดยพิธีแห่หงส์ – ธงตะขาบ จะจัดขึ้นในวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี และระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ๒๕๖๑ มีการเปิดบ่อนเล่นสะบ้าเป็นเวลา ๓ วัน ส่วนเรื่องการเล่นน้ำสงกรานต์ที่พระประแดง หรือที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าคือ วันไหลพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ นั้น ไม่ใช่ประเพณีของชาวไทยเชื้อสายมอญ(รามัญ) แต่เป็นการจัดกิจกรรมตามสมัยนิยมในปัจจุบันเท่านั้น และมักจะจัดหลังวันไหลพัทยา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๑๓ – ๑๔ เมษายน ๒๕๖๑ นางสาวนิลวรรณ ทุนคุ้มทอง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ สำนักงานพื้นที่พิเศษ ๑ (อพท.๑) และนางสาวชมพูนุท ธาราสิทธิโชค เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ อพท.๑ ได้ลงพื้นที่ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อร่วม กิจกรรมแห่หงส์ – ธงตะขาบ และกิจกรรมสะบ้าบ่อน ซึ่งเป็นประเพณีของชาวมอญพระประแดงที่จัดขึ้นปีละ ๑ ครั้ง เพื่อระลึกถึงวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้ตรัสรู้อนุตระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ๘ พรรษา พระองค์ก็ทรงรำลึกถึง พระมารดา ผู้เคยมีอุปการคุณมาก่อน แต่ขณะนั้นพระมารดาได้ดับขันธ์ไปสู่ดาวดึงส์แล้ว พระองค์จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อทรงแสดงธรรมพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดพุทธมารดา และอยู่จำพรรษาอีกหนึ่งไตรมาส จึงได้เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ เมื่อวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ก่อนพุทธกาล ๘๐ ปี ชาวมอญจึงได้ร่วมกันทำธงตะขาบถวายรับการเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ของพระพุทธเจ้า ประเพณีแห่ธงตะขาบ ภาษามอญเรียกพิธีแห่ธงนี้ว่า "ประเวนอย อะลาม เทียะกี่" ซึ่งชาวมอญที่พระประแดงหรือทุกภาคของประเทศไทย จะจัดประเพณีแห่หงส์ – ธงตะขาบในวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี ในอำเภอพระประแดง วัดมอญจำนวน ๑๐ วัดจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในการจัดประเพณีนี้ จะมีการกำหนดเส้นทางการแห่ร่วมกันระดับอำเภอว่าจะเริ่มต้นที่วัดใด และสิ้นสุดเส้นทางขบวนแห่ที่ใด เมื่อแห่ตามเส้นทางเสร็จสิ้น ขบวนแต่ละวัดจะแยกย้ายกันไป เพื่อนำธงตะขาบชักขึ้นสู่ยอดเสา โดยผู้เข้าร่วมพิธีสามารถเลือกร่วมกิจกรรมกับวัดใดวัดหนึ่ง ทั้งนี้ในช่วงเช้าก่อนกิจกรรมแห่หงส์ – ธงตะขาบจะมีการตักบาตรทำบุญในช่วงเช้า ซึ่งไม่เพียงแต่ชาวมอญที่มาร่วมงานเท่านั้น ชาวบ้านในคุ้งบางกะเจ้าต่างก็มาร่วมประเพณีนี้ด้วยเช่นกัน เหตุใดชาวมอญจึงเลือกธงตะขาบเป็นสัญลักษณ์ ก็เพราะว่า "ตะขาบ" เป็นสัตว์ดุร้าย แต่จะไม่ทำร้ายใครก่อน ยกเว้นโดนรังแก จึงจะต่อสู้ และมีสัญชาตญาณการปกป้องลูกสูงมาก "หงส์" ก็เป็นสัตว์ที่ชาวมอญให้ความสำคัญเช่นกัน เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของคนมอญ สืบเนื่องจากการเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้เสด็จประทับที่เชิงเขาริมทะเลและได้พบกับพ่อค้า ระหว่างนั้นพระพุทธองค์ได้หันพระพักตร์ไปทางทะเล เห็นหงส์กำลังเล่นน้ำทะเลอยู่บริเวณเนินดินขนาดเล็ก พระพุทธเจ้าทรงทำนายกับพ่อค้าว่า ต่อไปในภายภาคหน้าอีก ๑๐๐ ปี ที่เนินดินตรงที่หงส์เล่นน้ำนี้ จะกลายเป็นจุดสำคัญที่มีความเจริญทางการค้าและการศาสนา โดยหลังจากนั้นผ่านไปกว่า ๑๐๐ ปี เนินดินได้กลายเป็นแผ่นดินแผ่นใหญ่ขึ้นมาเหนือน้ำ ปัจจุบันก็คือเมืองหงสาวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ เป็นที่สังเกตได้ว่า หากวัดใดมีการประดับหงส์ในบริเวณวัด วัดแห่งนั้นมีชาวมอญช่วยทำนุบำรุงวัดแห่งนั้นตลอดมา สะบ้าบ่อน เป็นการละเล่นของคนหนุ่มสาวไทยเชื้อสายมอญ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การละเล่นนี้เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวได้พบกัน เนื่องจากในสมัยก่อนคนหนุ่มสาวต้องช่วยครอบครัวทำนา ทำสวน โอกาสที่จะได้พบกันก็มีเพียงช่วงสงกรานต์ งานบวช งานแต่งงานและงานศพ ดังนั้น เมื่อใกล้สงกรานต์ สาวๆ ก็จะเตรียมจัดสถานที่ใต้ถุนบ้านไว้ใช้เล่นสะบ้า ซึ่งเรียกว่า "บ่อน" ฝ่ายหญิงก็จะแต่งกายตามประเพณีอยู่ประจำบ่อน ส่วนฝ่ายชายที่อยู่ทั้งใกล้และไกลก็จะแต่งลอยชายตระเวนไปตามหมู่บ้านฝ่ายสาว เมื่อพบและตกลงกันว่าจะเล่นสะบ้า จึงจะเริ่มเล่น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเล่นในเวลากลางคืน ส่วนวิธีการเล่นแต่ละบ่อน แต่ละหมู่บ้านก็อาจจะแตกต่างกันไป สำหรับประเพณีการเล่นบ่อนสะบ้าที่ ตำบลทรงคนอง ในปีนี้ นายวรณัฎฐ์ หนูรอต นายอำเภอพระประแดง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด ณ หมู่บ้านมอญตำบลทรงคนอง ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเพชรหึงษ์ ๒ โดยมีหน่วยงานท้องถิ่นระดับตำบลเป็นผู้จัดงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชน มีการเปิดบ่อนทั้งหมด ๖ แห่ง แต่ละบ่อนมีความสนุกสนานไม่แพ้กัน ซึ่งนายอำเภอพระประแดงถึงกับเอ่ยปากชมคนหนุ่มสาวที่เล่นสะบ้าว่า "อยากให้หน่วยงานท้องถิ่นและคนในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์การละเล่นนี้สืบไป รู้สึกดีใจที่คนหนุ่มสาวเลือกที่จะอยู่เล่นสะบ้าในท้องถิ่นของตนเอง ดีกว่านั่งรถไปเล่นน้ำสงกรานต์ในถนนข้าวสารหรือถนนสีลม สะบ้าบ่อนเป็นการละเล่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ต้องขอบคุณบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย ที่ได้อนุรักษ์ประเพณีอันดีงามและส่งต่อมาถึงรุ่นลูกหลาน" นายอำเภอพระประแดงกล่าว การลงพื้นที่ของ อพท.๑ ครั้งนี้ นอกจากจะร่วมกิจกรรมแห่หงส์ – ธงตะขาบ และร่วมชมการละเล่นสะบ้าบ่อนในหมู่บ้านมอญตำบลทรงคนอง ยังถือเป็นการสานสัมพันธ์กับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เหมาะสมกับตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ