สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์ที่ 16-20 เม.ย.61 และคาดการณสัปดาห์ที่ 23-27 เม.ย. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 23, 2018 17:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--ปตท. ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 72.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 69.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 81.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 84.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - คณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ของกลุ่ม OPEC กับ Non-OPEC เข้าร่วมการประชุมวันที่ 19 เม.ย. 61 ที่กรุงJeddah ในซาอุดิอาระเบีย กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ประกาศผลสำเร็จ จากความร่วมมือลดปริมาณการผลิต ทำให้ระดับปริมาณสำรองน้ำมัน ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ทั่วโลกลดลง จากเดือน ม.ค. 60 ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี 340 ล้านบาร์เรล มาสู่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี 12 ล้านบาร์เรล ในเดือน มี.ค. 61 - Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 427.6 ล้านบาร์เรล - Reuters ระบุปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยรายปีของเวเนซุเอลา ลดลงต่อเนื่อง พ.ศ. 2559 ที่ 2.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ พ.ศ. 2560 ที่ 2.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปี พ.ศ.2561คาดว่าจะลดลง 18% สู่ระดับ 1.69 ล้านบาร์เรลต่อวัน - สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Statistical Bureau :NSB) รายงานโรงกลั่นในประเทศกลั่นน้ำมันดิบ ในไตรมาส 1/2561 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 7.5% หรือ 842,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 12.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น และรัฐบาลเพิ่มโควต้านำเข้าน้ำมันดิบแก่โรงกลั่นเอกชน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลต่อสถานการณ์สหรัฐฯ โจมตีซีเรีย เนื่องจากนักวิเคราะห์มองว่าสหรัฐฯ กับพันธมิตรโจมตีซีเรีย เพื่อทำลายคลังอาวุธเคมีและประกาศจุดยืนไม่ให้ซีเรียใช้อาวุธเคมี ขณะที่บุคคลากรหรืออาวุธของรัสเซียไม่ถูกจู่โจม ดังนั้นสงครามซีเรียไม่มีแนวโน้มลุกลามยกระดับเป็นสงครามระหว่างประเทศ ล่าสุดวันที่ 21 เม.ย. 61 หน่วยงานขององค์กรห้ามใช้อาวุธเคมี (Organization for the Prohibition of Chemical Weapons – OPCW) เข้าตรวจสอบพื้นที่เมือง Douma ประเทศซีเรีย ที่สหรัฐฯและพันธมิตรกล่าวหาว่ารัฐบาลมีการใช้อาวุธเคมีทำร้ายประชาชน - Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5 แท่น มาอยู่ที่ 820แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงสุดนับจากปลายปี พ.ศ. 2557 โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE Brent ยืนเหนือระดับ 70เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 และมีแนวโน้มขึ้นไปทดสอบแนวต้านสำคัญที่บริเวณ 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ บรรยากาศการลงทุนในตลาดน้ำมันมีทิศทางขาขึ้นชัดเจนหลัง Goldman Sachs คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี พ.ศ. 2561 จะอยู่ที่ประมาณ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากจีนนำเข้าน้ำมันดิบมากกว่าที่เคยประมาณการณ์ไว้ โดยตัวเลขเดือน เม.ย. 61 อยู่เหนือระดับ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์และคิดเป็นเกือบ 10% ของความต้องการใช้ทั้งโลก แม้ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงสนับสนุนจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางเป็นหลัก แต่ Goldman Sachs เชื่อว่าแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในระยะยาวคือสภาวะตึงตัวในตลาดน้ำมันจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของจีน ทั้งนี้ ปกติเดือน เม.ย. จะอยู่ในช่วงฤดูปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งทำให้การนำเข้าน้ำมันดิบลดลง ดังนั้นการนำเข้าของจีนที่กลับเพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย. จึงสะท้อนความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ธรรมดา ขณะที่ Goldman Sachs มีมุมมองแย้งกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่อประเด็นสงครามการค้า ด้วยมองว่าความวิตกสงครามการค้าหรือความกังวลว่าระดับราคาน้ำมันที่สูงจะลดความต้องการใช้ลง ล้วนเป็นความหวั่นเกรงเกินเหตุ ขณะที่ Standard Chartered ชี้ขณะนี้ตลาดน้ำมันเป็นช่วงขาขึ้น (Bull) ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70.0-74.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบNYMEX WTI อยู่ในกรอบ 65.0-69.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66.5-70.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก Platts คาดการณ์บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย Pertamina จะนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.5 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ในช่วง 2สัปดาห์แรกของเดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้น 14,500 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 680,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้สหรัฐฯ จะเริ่มนำเข้าน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นก่อนหน้าฤดูท่องเที่ยว (วันที่ 28 พ.ค. – 3 ก.ย. 61) ด้าน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 690,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.75 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินของจีน เดือน ม.ค. - ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 12.4 % อยู่ที่ระดับ 269,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่โรงกลั่น Borger (กำลังการกลั่น 145,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Phillips 66 ในสหรัฐฯ จะกลับมาเดินเครื่องหน่วย Gasoline-producing units (กำลังการผลิต 30,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Catalytic Converter Unit หรือ CCU (กำลังการผลิต 30,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 23 เม.ย. 61 หลังปิดดำเนินการเพราะปัญหาทางเทคนิคตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 61 ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 78.5-82.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก Platts รายงาน Arbitrage ดีเซลจากเอเชียและตะวันออกกลาง ไปยังตะวันตกเปิดและมีแรงซื้อจาก บริษัท Ceypetco ของศรีลังกา, บริษัท Saigon Petro ของเวียดนาม และ Egyptian General Petroleum Corp. (EGPC) ของอียิปต์ ด้านปริมาณสำรอง IESรายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 370,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.24 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บริษัท Sinopec ของจีนมีแผนลดปริมาณส่งออกดีเซล ในเดือน เม.ย. 61 จากโรงกลั่น Hainan (กำลังการกลั่น 185,000 บาร์เรลต่อวัน) ลดลงจากเดือนก่อน 372,500 บาร์เรล มาอยู่ที่ 596,000 บาร์เรล และจากโรงกลั่น Guangzhou (กำลังการกลั่น 265,000 บาร์เรลต่อวัน) ลดลง 37,300 บาร์เรล มาอยู่ที่ 186,300 บาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 82.0-86.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ